นักการศึกษาไทยได้พยายามที่จะเสนอ แนวคิดเพื่อการพัฒนาการศึกษาและการเรียนการสอนของไทยตลอดในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่เริ่มได้รับการตอบรับจากสังคมเมื่อเกิดการเคลื่อนไหวเพื่อการปฏิรูปการศึกษากันอย่างกว้างขวางในช่วง 4 - 5 ปีหลังจากนี้ วิกฤติเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยในปี พ.ศ. 2540 ได้ทำให้ประเทศตระหนักถึงความสำคัญของการศึกษาเพิ่มขึ้นอย่างมาก จึงปรากฏว่านอกจากนักศึกษาแล้ว ยังได้มีนักคิดจากวงการอื่นที่หันมาให้ความสนใจการศึกษาและเสนอแนะแนวคิดต่าง ๆ อย่างหลากหลาย ในที่นี้ผู้เขียนได้ประมวลแนวคิดที่น่าสนใจเกี่ยวกับกระบวนการต่าง ๆ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนการสอนมานำเสนอจำนวน 7 กระบวนการ กระบวนการเหล่านี้แม้จะยังไม่ได้รับการนำไปทดลองใช้ และทดสอบ พิสูจน์อย่างเป็นระบบ แต่ก็เป็นกระบวนการที่ได้รับความสนใจจากวงการการศึกษาไทยเป็นอย่างมากกระบวนการดังกล่าว ได้แก่
3.1 กระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 โดยสาโรช บัวศรี
3.2 กระบวนการกัลยาณมิตร โดย สุมน อมรวิวัฒน์
3.3 กระบวนการทางปัญญา โดย ประเวศ วะสี
3.4 กระบวนการคิด โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
3.5 กระบวนการคิด โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
3.6 มิติการคิดและกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดย ทิศนา แขมมณี และคณะ
3.7 กระบวนการสอนค่านิยมและจริยธรรม โดย โกวิท ประวาลพฤกษ์
3.8 กระบวนการต่าง ๆ โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
3.8.1 ทักษะกระบวนการ 9 ขั้น
3.8.2 กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด
3.8.3 กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
3.8.4 กระบวนการแก้ปัญหา
3.8.5 กระบวนการสร้างความตระหนัก
3.8.6 กระบวนการปฏิบัติ
3.8.7 กระบวนการคณิตศาสตร์
3.8.8 กระบวนการเรียนภาษา
3.8.9 กระบวนการกลุ่ม
3.8.10 กระบวนการสร้างเจตคติ
3.8.11 กระบวนการสร้างค่านิยม
3.8.12 กระบวนการเรียนรู้ความเข้าใจ
3.1 กระบวนการแก้ปัญหาตามหลักอริยสัจ 4 โดย สาโรช บัวศรี
สาโรช บัวศรี (2526) มีนักศึกษาไทยผู้มีชื่อเสียงและประสบการณ์สูงในวงการศึกษาท่านนี้เป็นผู้ริเริ่มจุดประกายความคิดในการนำหลักพุทธธรรมมาใช้ในการเรียนการสอนมานานกว่า 20 ปีมาแล้ว โดยการประยุกต์หลักอริยสัจ 4 ได้แก่ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และมรรค มาใช้เป็นกระบวนการแก้ปัญหา โดยใช้ควบคู่กับแนวทางปฎิบัติที่เรียกว่า "กิจในอริยสัจ4" อันประกอบด้วยปริญญา (การกำหนดรู้) ปหานะ (การละ) สัจฉิกิริยา (การทำให้แจ้ง) และภาวนา (การเจริญหรือการลงมือปฏิบัติ) จากหลักทั้งสอง ท่านได้เสนอแนะการสอนกระบวนการแก้ปัญหาไว้เป็นขั้นตอนดังนี้
1. ขั้นกำหนดปัญหา (ขั้นทุกข์) คือการให้ผู้เรียนระบุปัญหาที่ต้องการแก้ไข
2. ขั้นตั้งสมมติฐาน (ขั้นสมุทัย) คือการให้ผู้เรียนวิเคราะห์หาสาเหตุของปัญหาและตั้งสมมติฐาน
3. ขั้นทดลองและเก็บข้อมูล (ขั้นนิโรธ) คือการให้ผู้เรียนกำหนดวัตถุประสงค์และวิธีการทดลองเพื่อพิสูจน์สมมติฐานและเก็บรวบรวมข้อมูล
4. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผล (ขั้นมรรค) คือการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และสรุป
3.2 กระบวนการกัลยาณมิตร โดยสุมน อมรวิวัฒน์
สุมน อมรวิวัฒน์ (2524 : 196 - 199) ราชบัณฑิตสำนักธรรมศาสตร์ และการเมืองสาขาการศึกษาคณะครุศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต กิตติมศักดิ์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกิตติเมธีของมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ได้อธิบายกระบวนการกัลยาณมิตร ไว้ว่าเป็นกระบวนการประสานสัมพันธ์ระหว่างบุคคลเพื่อจุดมุ่งหมาย 2 ประการคือ 1. ชี้ทางบรรเทาทุกข์ 2. ชี้สุขเกษมศานติ์ กระบวนการกัลยาณมิตร ใช้หลักการที่พิสูจน์แล้วว่าเป็นหลักที่ช่วยให้คนพ้นทุกข์ได้คือ หลักอริยสัจ 4 มาใช้ควบคู่กับหลักกัลยาณมิตรธรรม 7 ในการจัดการเรียนการสอน ซึ่งมีกระบวนการหรือขั้นตอน 8 ขั้นด้วยกันดังนี้
1. หาสร้างความไว้ใจตามหลักกัลยาณมิตรธรรม 7 ได้แก่การที่ผู้สอนวางตนให้เป็นที่น่าเคารพรักเป็นที่พึงแก่ผู้เรียนได้ มีความรู้และฝึกหัดอบรมและปรับปรุงตนเองอยู่เสมอสามารถสื่อสารชี้แจงให้ศิษย์เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งมีความอดทนพร้อมที่จะรับฟังคำปรึกษาและมีความตั้งใจสอนด้วยความเมตตาช่วยให้ผู้เรียนพ้นจากทางเสื่อม
2. การกำหนดและจับประเด็นปัญหา (ขั้นทุกข์)
3. การร่วมกันวิเคราะห์เหตุของปัญหา (ขั้นสมุทัย)
4. การจัดลำดับความเข้มของระดับปัญหา (ขั้นสมุทัย)
5. การกำหนดจุดหมายหรือสภาวะพ้นปัญหา (ขั้นนิโรธ)
6. การร่วมกันคิดวิเคราะห์ความเป็นไปได้ของการแก้ปัญหา (ขั้นนิโรธ)
7. การจัดลำดับ. หมายของภาวะพ้นปัญหา (ขั้นนิโรธ)
8. การปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหาแนวทางที่ถูกต้อง (ขั้นมรรค)
3.3 กระบวนการทางปัญญาโดยประเวศ วะสี
ประเวศ วะสี (2542) นักคิดคนสำคัญของประเทศไทยผู้มีบทบาทอย่างมากในการกระตุ้นให้เกิดการปฏิรูปการศึกษาขึ้นท่านได้เสนอกระบวนการทางปัญญาซึ่งควรฝึกฝนให้แก่ผู้เรียนประกอบด้วย 10 ขั้นตอนดังนี้
1. ฝึกสังเกตให้ผู้เรียนมีโอกาสสังเกตสิ่งต่างๆให้มากให้รู้จักสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัว
2. ฝึกบันทึกให้ผู้เรียนสังเกตสิ่งต่างๆแล้วจดบันทึกรายละเอียดที่สังเกตเห็น
3. ฝึกการนำเสนอต่อที่ประชุมเมื่อผู้เรียนได้ไปสังเกตุหรือทำอะไรหรือเรียนรู้อะไรมาให้ฝึกนำเสนอเรื่องนั้นต่อที่ประชุม
4. ฝึกการฟังการฟังผู้อื่นช่วยให้ได้ความรู้มากผู้เรียนจึงควรได้รับการฝึกให้เป็นผู้ฟังที่ดี
5. ฝึกปุจฉา - วิสัชนาให้ผู้เรียนฝึกการถาม - การตอบซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความแจ่มแจ้งในเรื่องที่ศึกษารวมทั้งได้ฝึกการใช้เหตุผลการวิเคราะห์และการสังเคราะห์
6. ฝึกตั้งสมมติฐานและตั้งคำถามให้ผู้เรียนฝึกคิดและตั้งคำถามเพราะคำถามเป็นเครื่องมือสำคัญในการได้มาซึ่งความรู้ต่อไปจึงให้ผู้เรียนตั้งสมมติฐานและหาคำตอบ
7. ฝึกการค้นหาคำตอบเมื่อมีคำถามและสมมุติฐานแล้วควรให้ผู้เรียนฝึกค้นหาคำตอบจากแหล่งต่างๆเช่นหนังสือตำราอินเตอร์เน็ตหรือไปสอบถามจากผู้รู้เป็นต้น
8. ฝึกการวิจัยการวิจัยเป็นกระบวนการหาคำตอบที่จะช่วยให้ผู้เรียนค้นพบความรู้ใหม่
9. ฝึกเชื่อมโยงบูรณาการ บูรณาการให้เห็นความเป็นทั้งหมด และเห็นตัวเองเมื่อผู้เรียนได้เรียนรู้อะไรมาแล้ว ควรให้ผู้เรียนเชื่อมโยงให้เห็นความเป็นทั้งหมด และเกิดการรู้ตัวเองตามความเป็นจริงว่าสัมพันธ์กับความเป็นทั้งหมดอย่างไร อันจะทำให้เกิดมิติทางจริยธรรมขึ้น ช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
10. ฝึกการเขียนเรียบเรียงทางวิชาการหลังจากที่ได้เรียนรู้เรื่องใดแล้วควรให้ผู้เรียนฝึกเรียบเรียงความรู้ที่ได้ การเรียบเรียงจะช่วยให้ความคิดประณีตขึ้น ทำให้ต้องค้นคว้าหาหลักฐานที่มาของความรู้ให้ถี่ถ้วนแม่นยำขึ้น การเรียบเรียงทางวิชาการเป็นวิธีการสำคัญในการพัฒนาปัญญาของตน และเป็นประโยชน์ในการเรียนรู้ของผู้อื่นในวงกว้างออกไป
3.4 กระบวนการคิด โดย ชัยอนันต์ สมุทวณิช
ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2542 : 4-5) นักรัฐศาสตร์ และราชบัณฑิต สํานักธรรมศาสตร์ และการเมือง และผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย นักคิดผู้มีชื่อเสียงของประเทศไทย ซึ่งหันมาสนใจและพัฒนางานทางด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่องของการคิดไว้ว่า การคิดของคนเรามีหลายรูปแบบ โดยท่านได้ยกตัวอย่างมา 4 แบบ และได้อธิบายลักษณะของนักคิดทั้ง 4 แบบไว้ ซึ่งผู้เขียนจะขอนํามาประยุกต์เป็นแนวทางในการสอนเพื่อส่งเสริมความสามารถ ในการคิดของผู้เรียนได้ ดังนี้
1. การคิดแบบนักวิเคราะห์ (analytical) ผู้สอนสามารถช่วยผู้เรียนให้พัฒนา ความสามารถในการคิดแบบนี้ได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนแสวงหาข้อเท็จจริง (fact) คูตรรกะ (logic) ทิศทาง (direction) หาเหตุผล (reason) และมุ่งแก้ปัญหา (problem solving)
2. การคิดแบบรวบยอด (conceptual) ผู้สอนสามารถช่วยผู้เรียนให้พัฒนา ความสามารถในการคิดแบบนี้ได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนคิดวาดภาพในสมองสร้างความคิดใหม่ จากข้อมูลที่ถูกต้องแน่นอน หรือมองข้อมูลเดิมในแง่มุมใหม่และส่งเสริมให้ผู้เรียนกล้าคิด กล้าทํา
3. การคิดแบบโครงสร้าง (Structural thinking) การฝึกให้ผู้เรียนแยกแยะ ส่วนประกอบ ศึกษาส่วนประกอบ และเชื่อมโยงข้อมูล จัดเป็นโครงสร้างจะทําให้ผู้เรียนมีการคิด อย่างเป็นระบบ สามารถตัดสินว่า ควรจะทําอะไรอย่างไร
4. การคิดแบบผู้นําสังคม (social thinking) การฝึกให้ผู้เรียนปฏิสัมพันธ์พูดคุยกับผู้อื่น ทําตนเป็นผู้อํานวยความสะดวก (facilitator) ฝึกทักษะกระบวนการทํางานรวมกันเป็นทีม (group process) และฝึกให้คิด 3 ด้าน ที่เรียกว่า “PMI” คือด้านบวก (plus) ด้านลบ (minus) และด้านที่ไม่บวกไม่ลบ แต่เป็นด้านที่ไม่สนใจ (interesting)
3.5 มิติการคิดและกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ โดย ทิศนา แขมมณี และคณะ
ทิศนา แขมมณี และคณะ (2543) ได้ศึกษาค้นคว้าและจัดมิติของการคิดไว้ 6 ด้านคือ
1. มิติด้านข้อมูลหรือเนื้อหาที่ใช้ในการคิด การคิดของบุคคลจะเกิดขึ้นได้ จําเป็นต้อง มีองค์ประกอบอย่างน้อย 2 ส่วน คือ เนื้อหาที่ใช้ในการคิดและกระบวนการคิด คือต้องมีการคิดอะไร ควบคู่ไปกับการคิดอย่างไร ซึ่งเรื่องหรือข้อมูลที่คิดนั้น มีจํานวนมากเกินกว่าที่จะกําหนดได้ อย่างไรก็ตาม อาจจัดกลุ่มใหญ่ ๆ ได้เป็น 3 กลุ่ม คือ ข้อมูลเกี่ยวกับตนเอง ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมและสิ่งแวดล้อม และข้อมูลวิชาการ (โกวิท วรวิพัฒน์ อ้างถึงในอุ่นตา นพคุณ, 2530 : 29 - 36)
2. มิติด้านคุณสมบัติที่เอื้ออํานวยต่อการคิด ได้แก่ คุณสมบัติส่วนบุคคล ซึ่งมีผลโดยตรงหรือโดยอ้อมต่อการคิดและคุณภาพของการคิด เช่น ใจกว้าง ความใฝ่รู้ความกระตือรือร้น ความกล้าเสียง เป็นต้น
3. มิติด้านทักษะการคิด หมายถึง กระบวนการหรือขั้นตอนที่บุคคลใช้ในการคิด ซึ่ง จัดเป็น 3 กลุ่มใหญ่ คือ ทักษะการคิดขั้นพื้นฐาน (basic thinking skills) ประกอบด้วยทักษะที่ใช้ในการสื่อสาร เช่น ทักษะการอ่าน การพูด การเขียน ฯลฯ ทักษะการคิดที่เป็นแกน (core thinking skills)
ทักษะการสังเกต การเปรียบเทียบ เชื่อมโยง ฯลฯ และทักษะการคิดขั้นสูง (higher order thinking skill) เช่น ทักษะการนิยาม การสร้าง การสังเคราะห์ การจัดระบบ ฯลฯ ทักษะการคิดขั้นสูงมัก ประกอบด้วย กระบวนการ หรือขั้นตอนที่ซับซ้อนมากกว่าทักษะการคิดขั้นที่ต่ํากว่า
4. มิติด้านลักษณะการคิด เป็นประเภทของการคิดที่มีลักษณะเฉพาะซึ่งมีความเป็นนามธรรมสูง จําเป็นต้องมีการตีความให้เห็นเป็นรูปธรรม จึงจะสามารถเห็นกระบวนการหรือขั้นตอนการคิดชัดเจนขึ้น เช่น การคิดกว้าง การคิดลึกซึ้ง การคิดละเอียด เป็นต้น
5. มิติด้านกระบวนการคิด เป็นการคิดที่ประกอบไปด้วยขั้นตอนหลักหลายขั้นตอน ซึ่งจะนําผู้คิดไปสู่เป้าหมายเฉพาะของการคิดนั้น โดยขั้นตอนหลักเหล่านั้นจําเป็นต้องอาศัยทักษะการ คิดย่อยๆ จํานวนมากบ้าง น้อยบ้าง กระบวนการคิดแก้ปัญหา กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ กระบวนการวิจัย เป็นต้น
6. มิติด้านการควบคุมและประเมินการคิดของตน (metacognition) เป็นกระบวนการที่บุคคลใช้ในการควบคุมกํากับการรู้คิดของตนเอง มีผู้เรียกการคิดลักษณะนี้ว่า เป็นการคิดอย่างมียุทธศาสตร์ (strategic thinking) ซึ่งครอบคลุมการวางแผน การควบคุมกํากับการกระทําของตนเอง การตรวจสอบความก้าวหน้า และประเมินผล
นอกจากการนําเสนอมิติการคิดข้างต้นแล้ว ทิศนา แขมมณี และคณะ (2543) ยังได้ นําเสนอกระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ (critical thinking) ซึ่งเป็นผลจากการสังเคราะห์ข้อมูล เกี่ยวกับการคิดทั้งของต่างประเทศและของประเทศไทย ดังรายละเอียดต่อไปนี้
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
จุดมุ่งหมายของการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
เพื่อให้ได้ความคิดที่รอบคอบสมเหตุสมผล ผ่านการพิจารณาปัจจัยรอบด้านอย่าง กว้างขวาง ลึกซึ้ง และผ่านการพิจารณากลั่นกลอง ไตร่ตรอง ทั้งทางด้านคุณ - โทษ และคุณค่าที่แท้จริงของสิ่งนั้นมาแล้ว
เกณฑ์ความสามารถในการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
ผู้ที่คิดอย่างมีวิจารณญาณ จะมีความสามารถดังนี้
1. สามารถกําหนดเป้าหมายในการคิดอย่างถูกต้อง
2. สามารถระบุประเด็นในการคิดอย่างชัดเจน
3. สามารถประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริง และความคิดเห็นเกี่ยวกับที่คิดทั้งทางด้านกว้าง ทางลึก และไกล
4. สามารถวิเคราะห์ข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะใช้ในการคิดได้
5. สามารถประเมินข้อมูลได้
6. สามารถใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูล และเสนอคําตอบ / ทางเลือกที่สมเหตุสมผลได้
7. สามารถเลือกทางเลือก/ลงความเห็นในประเด็นที่คิดได้
วิธีการหรือขั้นตอนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
1.ตั้งเป้าหมายในการคิด
2. ระบุประเด็นในการคิด
3. ประมวลข้อมูล ทั้งทางด้านข้อเท็จจริง และความคิดเห็นที่เกี่ยวข้องกับประเด็น ที่คิดทั้งทางกว้าง ลึก และไกล
4. วิเคราะห์ จําแนกแยกแยะข้อมูล จัดหมวดหมู่ของข้อมูล และเลือกข้อมูลที่จะ นํามาใช้
5. ประเมินข้อมูลที่จะใช้ในแง่ความถูกต้อง ความเพียงพอ และความน่าเชื่อถือ
6. ใช้หลักเหตุผลในการพิจารณาข้อมูลเพื่อแสวงหาทางเลือก/คําตอบที่ สมเหตุสมผลตามข้อมูลที่มี
7. เลือกทางเลือกที่เหมาะสมโดยพิจารณาถึงผลที่จะตามมา และคุณค่าหรือ ความหมายที่แท้จริงของสิ่งนั้น
8. ชั่งน้ําหนัก ผลได้ ผลเสีย คุณ – โทษ ในระยะสั้นและระยะยาว
9. ไตร่ตรอง ทบทวนกลับไปมาให้รอบคอบ
10. ประเมินทางเลือกและลงความเห็นเกี่ยวกับประเด็นที่คิด
3.6 กระบวนการคิด โดย เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์ (2542 ข : 3 – 4) ผู้อํานวยการสถาบันอนาคตศึกษาเพื่อการพัฒนา (ไอเอฟดี) และนักคิดคนสําคัญของประเทศ ได้อภิปรายไว้ว่า หากเราต้องการให้ประเทศไทยพัฒนาต่อไปได้ ไม่เสียเปรียบ ไม่ถูกหลอกง่าย และสามารถคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่ได้ เราจึงจําเป็นต้องพัฒนาให้คนไทย “คิดเป็น” คือรู้จักวิธีการคิดที่ถูกต้อง และท่านได้เสนอแนะว่าควรมีการพัฒนาความสามารถในการคิดใน 10 มิติ ให้แก่คนไทย โดยท่านได้ให้ความหมายของการคิดใน 10 มิติ ดังกล่าวไว้ ซึ่งผู้เขียนขอประยุกต์มาใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอนสาห การพัฒนาผู้เรียนดังนี้
มิติที่ 1 ความสามารถในการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) สามารถพัฒนาให้ เกิดขึ้นได้โดยฝึกให้ผู้เรียนท้าทาย และโต้แย้งข้อสมมติฐานที่อยู่เบื้องหลังเหตุผลที่โยงความคิด เหล่านั้น เพื่อเปิดทางสู่แนวความคิดอื่น ๆ ที่อาจเป็นไปได้
มิติที่ 2 ความสามารถในการคิดเชิงวิเคราะห์ (analytical thinking) พัฒนาให้เกิดขึ้น ได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนสืบค้นข้อเท็จจริง เพื่อตอบคําถามเกี่ยวกับบางสิ่งบางอย่าง โดยการตีความ(interpretation) การจำแนกแยกแยะ (classification) และการทําความเข้าใจ (understanding) กับองค์ประกอบของสิ่งนั้นและองค์ประกอบอื่น ๆ ที่สัมพันธ์กัน รวมทั้งเชื่อมโยงความสัมพันธ์เชิง เหตุผล (causal relationship) ที่ไม่ขัดแย้งกันระหว่างองค์ประกอบเหล่านั้นด้วยเหตุผลที่หนักแน่น
น่าเชื่อถือ
มิติที่ 3 ความสามารถในการคิดเชิงสังเคราะห์ (Synthesis type thinking) และการฝึก ให้ผู้เรียนรวมองค์ประกอบที่แยกส่วนกัน มาหลอมรวมภายใต้โครงร่างใหม่อย่างเหมาะสม ซึ่งจะช่วยพัฒนาผู้เรียน ความสามารถของผู้เรียนในการคิดเชิงสังเคราะห์ได้
มิติที่ 4 ความสามารถในการคิดเชิงเปรียบเทียบ (comparative thinking) การฝึกให้ผู้เรียนค้นหาความเหมือนและ/หรือความแตกต่างขององค์ประกอบตั้งแต่ 2 องค์ประกอบขึ้นไป เพื่อใช้ในการอธิบายเรื่องใดเรื่องหนึ่งบนมาตรการ (criteria) เดียวกัน เป็นวิธีการช่วยให้ผู้เรียนพัฒนาทักษะการคิดเชิงเปรียบเทียบได้ดี
มิติที่ 5 ความสามารถในการคิดเชิงมโนทัศน์ (conceptual thinking) ผู้เรียนจะสามารถพัฒนาทักษะในการคิดแบบนี้ได้โดยการฝึกการนําข้อมูลทั้งหมดมาประสานกัน และสร้างเป็นกรอบความคิดใหม่ขึ้นมาใช้ในการตีความข้อมูลอื่น ๆ ต่อไป
มิติที่ 6 ความสามารถในการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative thinking) ความสามารถด้านนี้พัฒนาได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนคิดออกนอกกรอบความคิดเดิมที่มีอยู่ ทําให้ได้แนวทางใหม่ ๆ ที่ไม่ เคยมีมาก่อน
มิติที่ 7 ความสามารถในการคิดเชิงประยุกต์ (applicative thinking) การคิดประเภทนี้เป็นประโยชน์ต่อชีวิตประจําวันมาก ผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนฝึกนําสิ่งต่าง ๆ ที่มีอยู่เดิมไปใช้ ประโยชน์ในวัตถุประสงค์ใหม่ และปรับสิ่งที่มีอยู่เดิมให้เข้ากับบุคคล สถานที่ เวลา และเงื่อนไขใหม่ ได้อย่างเหมาะสม
มิติที่ 8 ความสามารถในการคิดเชิงกลยุทธ์ (Strategic thinking) ความสามารถในด้านนี้ พัฒนาได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนกำหนดแนวทางที่เป็นรูปธรรมที่ดีที่สุดภายใต้เงื่อนไขข้อจำกัดต่าง ๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ
มิติที่ 9 ความสามารถในการคิดเชิงบูรณาการ (integrative thinking) คือการฝึกให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเรื่องในมุมต่าง ๆ เข้ากับเรื่องหลัก ๆ ได้อย่างเหมาะสม
มิติที่ 10 ความสามารถในการคิดเชิงอนาคต (futuristic thinking) เป็นความสามารถในการคิดขั้นสูง ซึ่งสามารถพัฒนาได้โดยการฝึกให้ผู้เรียนคาดการณ์ และประมาณการการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยการใช้เหตุผลทางตรรกวิทยา สมมติฐาน ข้อมูลและความสัมพันธ์ต่าง ๆ ของในอดีตและปัจจุบัน เพื่อคาดการณ์ ทิศทางหรือขอบเขตทางเลือกที่เหมาะสมอีกทั้งมีพลวัตรสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
3.7 กระบวนการสอนค่านิยมและจริยธรรม โดย โกวิท ประวาลพฤกษ์
โกวิท ประวาลพฤกษ์ (2532) นักวิชาการคนสําคัญท่านหนึ่งในวงการศึกษาได้เสนอ ความคิดเกี่ยวกับการพัฒนาค่านิยมและจริยธรรมไว้ว่า ควรเริ่มต้นด้วยการพัฒนาเหตุผลเชิงจริยธรรม และดําเนินการสอนตามขั้นตอนดังนี้
1. กําหนดพฤติกรรมทางจริยธรรมที่พึงปรารถนา
2. เสนอตัวอย่างพฤติกรรมในปัจจุบัน
3. ประเมินปัญหาเชิงจริยธรรม
4. แลกเปลี่ยนผลการประเมิน
5. ฝึกพฤติกรรมโดยมีผลสําเร็จ
6. เพิ่มระดับความขัดแย้ง
7. ให้ผู้เรียนประเมินตนเอง
8. กระตุ้นให้ผู้เรียนยอมรับตัวเอง
3.8 กระบวนการต่าง ๆ โดย กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ
กระทรวงศึกษาธิการ โดยกรมวิชาการ สํานักงานคณะกรรมการการประถมแห่งชาติ กรมสามัญ และกรมการศึกษาเอกชน ได้สนับสนุนให้มีการพิจารณานํากระบวนการเรียนรู้แบบต่าง ๆ ไปใช้ในการเรียนการสอน โดยเสนอแนะกระบวนการที่ครูควรใช้ 12 กระบวนการด้วยกัน ดังนี้ (กรมวิชาการ 2534)
กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ (2534) ได้ให้ความหมายของการสอนที่เน้นกระบวนการไว้ว่า เป็นการสอนที่
ก. สอนให้ผู้เรียนสามารถทําตามขั้นตอนได้และรับรู้ขั้นตอนทั้งหมดจนสามารถ นําไปใช้ได้จริงในสถานการณ์ใหม่ ๆ
ข. สอนให้ผู้เรียนได้ฝึกฝนจนเกิดทักษะ สามารถนําไปใช้ได้อย่างอัตโนมัติ
การสอนกระบวนการจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ภายใต้เงื่อนไขดังนี้
1. ครูมีความเข้าใจและใช้กระบวนการนั้นอยู่
2. ครูนําผู้เรียนผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ของกระบวนการที่ละขั้นอย่างเข้าใจครบถ้วนครบวงจร
3. ผู้เรียนเข้าใจและรับรู้ขั้นตอนของกระบวนการนั้น
4. ผู้เรียนนํากระบวนการนั้นไปใช้ในสถานการณ์ใหม่ได้
5. ผู้เรียนใช้กระบวนการนั้นในชีวิตประจําวันจนเป็นนิสัย
จะเห็นได้ว่ากระบวนการเหล่านี้ผู้สอนจะต้องเป็นผู้วางแผน นําให้ผู้เรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้จนบรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้ ดังนั้น กระบวนการที่ใช้จะเป็นกระบวนการใดก็ย่อมขึ้นอยู่กับจุดประสงค์การเรียนรู้เป็นสําคัญ
3.8.1 ทักษะกระบวนการ (9 ขั้น)
1. ตระหนักในปัญหาและความจําเป็น
ครูยกสถานการณ์ตัวอย่างและกระตุ้นให้ผู้เรียนตระหนักในปัญหาความจะเป็นของเรื่องที่ศึกษา หรือเห็นประโยชน์และความสําคัญของการศึกษาเรื่องนั้น ๆ โดยครูอาจนําเสนอเป็นกรณีตัวอย่าง หรือสถานการณ์ที่สะท้อนให้เห็นปัญหาความขัดแย้งของเรื่องที่จะศึกษาโดยใช้สื่อประกอบ เช่น รูปภาพ วีดีทัศน์ สถานการณ์จริง กรณีตัวอย่าง สไลด์ ฯลฯ
2. คิดวิเคราะห์วิจารณ์
ครูกระตุ้นให้ผู้เรียนได้คิดวิเคราะห์วิจารณ์ ตอบคําถาม ทําแบบฝึกหัด และให้โอกาสผู้เรียนแสดงความคิดเห็นเป็นกลุ่ม หรือรายบุคคล
3. สร้างทางเลือกให้หลากหลาย
ให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลาย โดยร่วมกันคิดเสนอทางเลือก และอภิปรายข้อดีข้อเสียของทางเลือกนั้น
4. ประเมินและเลือกทางเลือก
ให้ผู้เรียนพิจารณาตัดสินเลือกแนวทางในการแก้ปัญหาและร่วมกันสร้างเกณฑ์โดยคํานึงถึงปัจจัย วิธีดําเนินการ ผลผลิต ข้อจํากัด ความเหมาะสม กาลเทศะ เพื่อใช้ในการพิจารณาเลือกแนวทางการแก้ปัญหา ซึ่งอาจใช้วิธีระคมพลังสมอง อภิปราย ศึกษาค้นคว้าเพิ่มเติม ฯลฯ
5. กําหนดและลําดับขั้นตอนการปฏิบัติ
ให้ผู้เรียนวางแผนในการทํางานของตนเองหรือกลุ่มโดยอาจใช้ลําดับขั้นการดําเนินงานดังนี้
5.1 ศึกษาข้อมูลขั้นพื้นฐาน
5.2 กําหนดวัตถุประสงค์
5.3 กําหนดขั้นตอนการทํางาน
5.4 กําหนดผู้รับผิดชอบ (กรณีทําร่วมกันเป็นกลุ่ม)
5.5 กําหนดระยะเวลาการทํางาน
5.6 กําหนดวิธีการประเมิน
6. ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
ให้ผู้เรียนปฏิบัติตามขั้นตอนที่กําหนดไว้ด้วยความสมัครใจ ตั้งใจมีความกระตือรือร้น และเพลิดเพลินกับการทํางาน
7. ประเมินระหว่างปฏิบัติ
ให้ผู้เรียนสํารวจปัญหาอุปสรรคในการปฏิบัติงาน โดยการซักถามอภิปราย แลกเปลี่ยนความคิดเห็น มีการประเมินผลการปฏิบัติงานตามขั้นตอนและตามแผนงานที่กําหนดไว้ โดยสรุปผลการทํางานแต่ละช่วง แล้วเสนอแนวทางการปรับปรุงการทํางานขั้นต่อไป
8. ปรับปรุงให้ดีขึ้นอยู่เสมอ
ผู้เรียนนําผลที่ได้จากการประเมินในแต่ละขั้นตอนมาเป็นแนวทางในการพัฒนางานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
9. ประเมินผลรวมเพื่อให้เกิดความภาคภูมิใจ
ผู้เรียนสรุปผลการดําเนินงาน โดยการเปรียบเทียบผลงานกับวัตถุประสงค์ที่กําหนดไว้และผลพลอยได้อื่น ๆ ซึ่งอาจเผยแพร่ขยายผลงานแก่ผู้อื่นด้วยความเต็มใจและภาคภูมิใจ
3.8.2 กระบวนการสร้างความคิดรวบยอด
1. สังเกต
ให้ผู้เรียนรับรู้ข้อมูล และศึกษาด้วยวิธีการต่าง ๆ โดยใช้สื่อประกอบเพื่อกระต้นให้ผู้เรียนเกิดข้อกําหนดเฉพาะด้วยตนเอง
2. จําแนกความแตกต่าง
ให้ผู้เรียนบอกถึงความแตกต่างของสิ่งที่รับรู้และให้เหตุผลในความแตกต่างนั้น
3. หาลักษณะร่วม
ผู้เรียนมองเห็นความเหมือนในภาพรวมของสิ่งที่รับรู้ และสรุปเป็นวิธีการ หลักการ คําจํากัดความ หรือนิยาม
4. ระบุชื่อความคิดรวบยอด
ผู้เรียนได้ความคิดรวบยอคเกี่ยวกับสิ่งที่รับรู้
5. ทดสอบและนําไปใช้
ผู้เรียนได้ทดลอง ทดสอบ สังเกต ทําแบบฝึกหัด ปฏิบัติ เพื่อประเมินความรู้
3.8.3 กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณ
กระบวนการคิดอย่างมีวิจารณญาณเป็นความสามารถทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับ การรับรู้ ความจํา จนถึงขั้นการวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่าตามแนวคิดของ บลูม (Bloom) หรือแนวความคิดของกานเย่ (Gagne) ซึ่งเริ่มจากการเรียนรู้สัญลักษณ์ทางภาษาจนเชื่อมโยงเป็นความคิดรวบยอดเป็นกฎเกณฑ์และนํากฎเกณฑ์ไปใช้ ผู้สอน ควรพยายามใช้เทคนิคต่อไปนี้ ซึ่งไม่จําเป็นต้องใช้เป็นขั้น ๆ อาจจะเลือกใช้เทคนิคใดก่อนหลังก็ได้ขึ้นอยู่กับการจัดกิจกรรมการเรียนการ สอน แต่ความพยายามกระตุ้นให้ผู้เรียนผ่านขั้นตอนย่อยทุกขั้นตอน ดังนี้
1. ขั้นสังเกต
ให้ผู้เรียนทํากิจกรรมรับรู้แบบปรนัยให้เกิดความเข้าใจ ได้ความคิดรวบยอด เชื่อมโยงความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ สรุปเป็นใจความสําคัญครบถ้วน ตรงตามหลักฐานข้อมูล
2. อธิบาย
ให้ผู้เรียนตอบคําถาม แสดงความคิดเห็นเชิงเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่กำหนด เน้นการใช้เหตุผล ด้วยหลักการ กฏเกณฑ์และอ้างหลักฐานข้อมูลประกอบให้น่าเชื่อถือ
3. รับฟัง
ให้ผู้เรียนได้ฟังความคิดเห็น คําวิพากษ์วิจารณ์ที่มีต่อความคิดของตน ได้ตอบคำถาม โตเตอบ และแสดงความคิดเห็นของตน ฝึกให้ผู้เรียนปรับเปลี่ยนความคิดเดิมของตนตามเหตุผลหรือข้อมูลที่ดี โดยไม่ใช้อารมณ์
4. เชื่อมโยงความสัมพันธ์
ให้ผู้เรียนได้เปรียบเทียบความแตกต่าง และความคล้ายคลึงของสิ่งต่าง ๆ ให้สรุปจัดกลุ่มสิ่งที่เป็นพวกเดียวกัน เชื่อมโยงเหตุการณ์เชิงสาเหตุและผล หากกฎเกณฑ์การเชื่อมโยงในลักษณะอุปมาอุปไมย
5. วิจารณ์
จัดกิจกรรมให้วิเคราะห์เหตุการณ์ คํากล่าว แนวคิด หรือการกระทํา แล้วให้จําแนกหาจุดเด่น - จุดด้อย ส่วนดี - ส่วนเสีย ส่วนสําคัญ - ไม่สําคัญจากสิ่งนั้น ด้วยการยกเหตุผล หลักการมาประกอบการวิจารณ์
6. สรุป
จัดกิจกรรมให้พิจารณาส่วนประกอบของการกระทําหรือข้อมูลต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเกี่ยวข้องกัน แล้วให้สรุปผลอย่างตรงและถูกต้องตามหลักฐานข้อมูล
3.8.4 กระบวนการแก้ปัญหา
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เกิดความคิด
1. สังเกต
ให้นักเรียนไปศึกษาข้อมูล รับรู้และทําความเข้าใจในปัญหาจนสามารถสรุป และตระหนักในปัญหานั้น
2. วิเคราะห์
ให้ผู้เรียนได้อภิปราย หรือแสดงความคิดเห็นเพื่อแยกแยะประเด็นปัญหา สภาพ สาเหตุ และลําดับความสําคัญของปัญหา
3. สร้างทางเลือก
ให้ผู้เรียนแสวงหาทางเลือกในการแก้ปัญหาอย่างหลากหลายซึ่งอาจมีการทดลองค้นคว้า ตรวจสอบ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการทํากิจกรรมกลุ่มและควรมีการกําหนดหน้าที่ในการทํางานให้แก่ผู้เรียนด้วย
4. เก็บข้อมูลประเมินทางเลือก
ผู้เรียนปฏิบัติตามแผนงานและบันทึกการปฏิบัติงาน เพื่อรายงานและตรวจสอบความถูกต้องของทางเลือก
5. สรุป
ผู้เรียนสังเคราะห์ความรู้ด้วยตนเอง ซึ่งอาจจัดทําในรูปของรายงาน
3.8.5 กระบวนการสร้างความตระหนัก
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่กระตุ้นให้ผู้เรียนให้ความสนใจ เอาใจใส่ รับรู้ เห็นคณค่าในปรากฏการณ์ หรือพฤติกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสังคม ทั้งที่เป็นรูปธรรมและนามธรรม ขั้นตอนการดําเนินการมีดังนี้
1. สังเกต
ให้ข้อมูลที่ต้องการให้ผู้เรียนเกิดความสนใจ เอาใจใส่ และเห็นคุณค่า
2. วิจารณ์
ให้ตัวอย่าง สถานการณ์ ประสบการณ์ตรง เพื่อให้ผู้เรียนได้วิเคราะห์หาสาเหตุ และผลดีผลเสีย ที่จะเกิดขึ้นทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
3. สรุป
ให้อภิปรายหาข้อมูลหรือหลักฐานมาสนับสนุนคุณค่าของสิ่งที่จะต้องตระหนักและวางเป้าหมายที่จะพัฒนาตนเองในเรื่องนั้น
3.8.6 กระบวนการปฏิบัติ
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้เรียนปฏิบัติจนเกิดทักษะ มีขั้นตอนดังนี้
1. สังเกตรับรู้
ให้ผู้เรียนได้เห็นตัวอย่างหลากหลายจนเกิดความเข้าใจและสรุปความคิดรวบยอด
2. ทําตามแบบ
ทําตามตัวอย่างที่แสดงให้เห็นทีละขั้นตอน จากขั้นพื้นฐานไปสู่งานที่ซับซ้อนขั้น
3. ทําเองโดยไม่มีแบบ
เป็นการให้ฝึกปฏิบัติตามขั้นตอนตั้งแต่ต้นจนจบด้วยตนเอง
4. ฝึกให้ชํานาญ
ให้ผู้เรียนปฏิบัติด้วยตนเองจนเกิดความชํานาญหรือทําได้โดยอัตโนมัติ ซึ่งอาจเป็นงานชิ้นเดิมหรืองานที่คิดขึ้นใหม่
3.8.7 กระบวนการคณิตศาสตร์
กระบวนการนี้มี 2 วิธีการ คือ สอนทักษะทางคิดคํานวณและทักษะแก้ปัญหาโจทย์ การสอนทักษะการคิดคํานวณมีขั้นตอนย่อย คือ สร้างความคิดรวบยอดของคํา นิยามศัพท์ สอนกฎโดยวิธีอุปนัย (สอนจากตัวอย่างไปสู่กฏเกณฑ์ใหม่) ฝึกการวินิจฉัย ปรับปรุงแก้ไขข้อบกพร่อง
ส่วนการสอนทักษะแก้ปัญหาโจทย์ มีขั้นตอนย่อยคือ แปลโจทย์ในเชิงภาษา หาแก้ปัญหาโจทย์ วางแผน ปฏิบัติตามขั้นตอน และตรวจสอบคําถาม
3.8.8 กระบวนการเรียนภาษา
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มุ่งให้เกิดการพัฒนาทักษะทางภาษามีขั้นตอนดังนี้
1. ทําความเข้าใจสัญลักษณ์ สื่อ รูปภาพ รูปแบบเครื่องหมาย
ผู้เรียนรับรู้เกี่ยวกับความหมายของคํา กลุ่มคํา ประโยคและถ้อยคําสำนวนต่างๆ
2. สร้างความคิดรวบยอด
ผู้เรียนเชื่อมโยงความรู้จากประสบการณ์นํามาสู่ความเข้าใจและเกิดภาพรวมเกี่ยวกับสิ่งที่เรียนด้วยตนเอง
3. สื่อความหมาย ความคิด
ผู้เรียนถ่ายทอดทางภาษาให้ผู้อื่นเข้าใจได้
4. พัฒนาความสามารถ
ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ตามขั้นตอนคือความรู้ความจํา ความเข้าใจ การนําไปใช้ การวิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
3.8.9 กระบวนการกลุ่ม
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้เรียนทํางานร่วมกัน โดยเน้นกิจกรรมดังนี้
1. มีผู้นํากลุ่ม ซึ่งอาจผลัดเปลี่ยนกัน
2. วางแผนกําหนดวัตถุประสงค์และวิธีการ
3. รับฟังความคิดเห็นจากสมาชิกทุกคนบนพื้นฐานของเหตุผล
4. แบ่งหน้าที่รับผิดชอบ เมื่อมีการปฏิบัติ
5.ติดตามผลการปฏิบัติและปรับปรุง
6. ประเมินผลรวมและชื่นชมในผลงานของคณะ
3.8.10 กระบวนการสร้างเจตคติ
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่แทรกได้กับทุกเนื้อหา เน้นความรู้สึกที่ดีต่อกลุ่มที่เรียน อาจเป็นความคิด หลักการ การกระทํา เหตุการณ์ สถานการณ์ ฯลฯ มีขั้นตอนดังนี้
1. สังเกต
ผู้เรียนพิจารณาข้อมูล เหตุการณ์ การกระทําที่เกี่ยวข้องกับการมีเจตคติที่ดีและเจตคติที่ไม่ดี
2. วิเคราะห์
ผู้เรียนพิจารณาผลที่จะเกิดขึ้นตามมา แยกเป็นการกระทําที่เหมาะสมได้ผลตามที่น่าพอใจ และการกระทําที่ไม่เหมาะสมได้ผลที่ไม่น่าพอใจ
3. สรุป
ผู้เรียนรวบรวมข้อมูลเป็นหลักการ แนวคิด แนวปฏิบัติ
3.8.11 กระบวนการสร้างค่านิยม
กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดความรู้สึกเกิดการยอมรับ และเห็นคุณค่าของค่านิยมด้วยตนเอง มีขั้นตอนดังนี้
1. สังเกต ตระหนัก
ผู้เรียนพิจารณาการกระทําที่เหมาะสมและการกระทําที่ไม่เหมาะสม รับรู้ ความหมาย จําแนกการกระทําที่แตกต่างกันได้
2. ประเมินเชิงเหตุผล
ผู้เรียนใช้กระบวนการอภิปรายกลุ่มแสดงความคิดเห็น วิเคราะห์วิจารณ์การ กระทําของตัวละคร หรือบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ ว่าเหมาะสมหรือไม่เพราะเหตุใด
3. กําหนดค่านิยม
ผู้เรียนแต่ละคนแสดงความเชื่อ ความพอใจในการกระทําที่ควรกระทําใน สถานการณ์ต่าง ๆ พร้อมเหตุผล
4. วางแผนปฏิบัติ
ผู้เรียนช่วยกันกําหนดแนวปฏิบัติในสถานการณ์จริงโดยมีครูร่วมรับทราบ กติกา การกระทํา และสํารวจสิ่งที่ผู้เรียนต้องการจะได้รับเมื่อกระทําดีแล้ว เช่น การได้ประกาศชื่อให้ เป็นที่ยอมรับ
5. ปฏิบัติด้วยความชื่นชม
ครูให้การเสริมแรงระหว่างการปฏิบัติเพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความชื่นชม ยินดี
3.8.12 กระบวนการเรียน ความรู้ความเข้าใจ
กระบวนการนี้ใช้กับการเรียนเนื้อหาเชิงความรู้ มีขั้นตอนดังนี้
1. สังเกต ตระหนัก
ผู้เรียนพิจารณาข้อมูล สาระความรู้ เพื่อสร้างความคิดรวบยอด ตั้งคําถาม ตั้งข้อสังเกต สังเคราะห์ข้อมูล เพื่อทําความเข้าใจในสิ่งที่ต้องการเรียนรู้และกําหนดเป็นวัตถุประสงค์ที่จะแสวงหาคําตอบต่อไป
2. วางแผนปฏิบัติ
ผู้เรียนนําวัตถุประสงค์ หรือคําถามที่ทุกคนสนใจจะหาคาตอบมาวางแผนเพื่อกําหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม
3. ลงมือปฏิบัติ
ครูกําหนดให้สมาชิกในกลุ่มย่อย ๆ ได้แสวงหาคําตอบจากแหล่งความรู้ด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น ค้นคว้า สัมภาษณ์ ศึกษานอกสถานที่ หาข้อมูลจากองค์กรในชุมชน ฯลฯ ตามแผนงานที่ วางไว้
4. พัฒนาความรู้ความเข้าใจ
ผู้เรียนนําความรู้ที่ได้มารายงานและอภิปรายเชิงแปลความ ตีความ ขยายความ นําไปใช้ วิเคราะห์ สังเคราะห์ และประเมินค่า
5. สรุป
ผู้เรียนรวบรวมเป็นสาระที่ควรรู้บันทึกลงสมุด
จะเห็นได้ว่า กระบวนการรวมทั้งรูปแบบการเรียนการสอนต่าง ๆ มีความหลากหลายพอสมควร ผู้สอนจึงพึงตระหนักว่าศาสตร์ทางการสอนได้ให้แนวคิดแนวทางในการจัดการเรียนการสอนไว้อย่าง หลากหลายพอสมควร หากผู้สอนรู้จักแสวงหา ศึกษาเรียนรู้ และนําไปทดลองใช้ จะสามารถช่วยให้ การเรียนการสอนมีประสิทธิภาพ มีชีวิตชีวา และมีความหลากหลาย ไม่จําเจอยู่กับวิธีการหรือกระบวนการเพียงไม่กี่วิธีซึ่งอาจทําให้ทั้งผู้สอนและผู้เรียนเกิดความเบื่อหน่าย
ที่มา พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.
หน้าเเรก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
-
การวางแผนการสอนสามารถกระทำได้ 2 แนว คือ การวางแผนระยะยาว และการวางแผนระยะสั้น 1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่...
-
หลักการออกแบบของ ADDIE model มีขั้นตอนดังนี้ 1. ขั้นการวิเคราะห์ Analysis 2. ขั้นการออกแบบ Design 3. ขั้นการพัฒนา Development 4. ขั...
-
ประมวลรายวิชา ( Course Syllabus) ชื่อรายวิชา การจัดการเรียนรู้ และการจัดการในชั้นเรียน หมวดวิชา วิชาเฉพาะ ระด...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น