หน้าเเรก

วันพุธที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2561

รูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย

1. ทฤษฎี  หลักการ  แนวคิด   ของรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย (Cognitive    domain) 

                  ทิศนา  แขมณี(2545 : 223 - 230) ได้เสนอรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นการพัฒนาด้านพุทธิพิสัย(Cognitive   domain)  ว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนที่มุ่งช่วยให้ผู้เรียนเกิดความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาสาระต่าง ๆ  ซึ่งเนื้อหาสาระอาจจะอยู่ในรูปของข้อมูล  ข้อเท็จจริง  มโนทัศน์  หรือความคิดรวบยอด  ซึ่งมีหลายรูปแบบแต่ขอนำเสนอในบทนี้เพียง  3  รูปแบบ   ดังนี้
                 1.1  รูปแบบการเรียนการสอนมโนทัศน์
                 1.2  รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดของกานเย
                 1.3  รูปแบบการเรียนการสอนเน้นความจำ

1.1 รูปแบบการเรียนการสอนมโนทัศน์    
          ก. ทฤษฎี  หลักการ  แนวคิด  ดังนี้
จอยส์และวิลส์ (ทิศนา    แขมณี. 2545 : 223 ; อ้างอิงจาก Joyce & Weil , 1996 : 161 – 178) ได้พัฒนารูปแบบนี้ขึ้นโดยใช้แนวคิดของบรุนเนอร์    กู๊ดนาว  และออสติน เกี่ยวกับการเรียนรู้มโนทัศน์ที่ว่า  “การเรียนรู้มโนทัศน์ของสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้น  สามารถทำได้โดยการค้นหาคุณสมบัติเฉพาะที่สำคัญของสิ่งนั้น   เพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการจำแนกสิ่งที่ใช่และไม่ใช่สิ่งนั้นออกจากกัน” 
          ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มโนทัศน์ของเนื้อหาสาระต่าง ๆ  อย่างเข้าใจและสามารถให้คำนิยามของมโนทัศน์นั้นได้ด้วยตนเอง
         ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ

ขั้นที่ 1    ผู้สอนเตรียมข้อมูลสำหรับให้ผู้เรียนฝึกหัดจำแนก
               1)   ผู้สอนเตรียมข้อมูล  2  ชุด  ชุดหนึ่งเป็นตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน  อีกชุดหนึ่งไม่ใช่ตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน
               2)   ในการเลือกตัวอย่างข้อมูล  2  ชุดข้างต้น  ผู้สอนจะต้องเลือกหาตัวอย่างที่มีจำนวนมากพอที่จะครอบคลุมลักษณะของมโนทัศน์ที่ต้องการนั้น
               3)   ถ้ามโนทัศน์ที่ต้องการสอนเป็นเรื่องยากหรือซับซ้อนหรือเป็นนามธรรมอาจใช้วิธีการยกเป็นตัวอย่างเรื่องสั้น ๆ  ที่ผู้สอนแต่งขึ้นเองนำเสนอแก่ผู้เรียน
               4)   ผู้สอนเตรียมสื่อการสอนที่เหมาะสมจะใช้ประกอบนำเสนอตัวอย่างมโนทัศน์เพื่อแสดงให้เห็นลักษณะต่าง ๆ  ของมโนทัศน์ที่ต้องการสอนอย่างชัดเจน

ขั้นที่ 2  ผู้สอนอธิบายกติกาในการเรียนให้ผู้เรียนรู้และเข้าใจตรงกัน
   ผู้สอนชี้แจงวิธีการเรียนรู้ให้ผู้เรียนเข้าใจก่อนเริ่มกิจกรรมโดยอาจสาธิตวิธีการและลองให้ผู้เรียนลองทำตามที่ผู้สอนบอกจนกระทั่งผู้เรียนเกิดความเข้าใจพอสมควร

ขั้นที่ 3  ผู้สอนเสนอข้อมูลตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน  และข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวอย่างของมโนทัศน์ที่ต้องการสอน
การนำเสนอข้อมูลตัวอย่างนี้ทำได้หลายแบบ   แต่ละแบบมีจุดเด่น  จุดด้อยดังต่อไปนี้
    1) นำเสนอข้อมูลที่เป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนทีละข้อมูลจนหมดทั้งชุด  โดยบอกให้ผู้เรียนรู้ว่าเป็นตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนแล้วตามด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนแต่ละข้อมูล   จนครบหมดทั้งชุดเช่นกัน    โดยบอกให้ผู้เรียนรู้ว่าตัวอย่างชุดหลังนี้ไม่ใช่ชุดที่จะสอน    ผู้เรียนต้องสังเกตตัวอย่างทั้ง  2  ชุด   และคิดหาคุณสมบัติร่วมและคุณสมบัติที่แตกต่างกัน   เทคนิควิธีนี้ช่วยให้ผู้เรียนสร้างมโนทัศน์ได้เร็ว  แต่ใช้กระบวนการคิดน้อย
     2) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนสลับกันไปจนครบ  เทคนิควิธีนี้ช่วยสร้างมโนทัศน์ได้ช้ากว่าเทคนิคแรก   แต่ได้ใช้กระบวนการคิดมากกว่า
       3) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนทีละ  1  ข้อมูล   แล้วเสนอข้อมูลที่เหลือทั้งหมดทีละข้อมูลโดยให้ผู้เรียนตอบว่าข้อมูลแต่ละข้อมูลที่เหลือนั้นใช่หรือไม่ใช่ข้อมูลที่จะสอน   เมื่อผู้เรียนตอบ  ผู้สอนจะเฉลยว่าผู้เรียนตอบถูกหรือผิด   วิธีนี้ผู้เรียนจะได้ใช้กระบวนการคิดในการทดสอบสมมติฐานของตนไปทีละขั้นตอน
       4) เสนอข้อมูลที่ใช่และไม่ใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอนทีละ  1  ข้อมูล  แล้วให้ผู้เรียนช่วยกันยกตัวอย่างข้อมูลที่ผู้เรียนคิดว่าใช่ตัวอย่างของสิ่งที่จะสอน  โดยผู้สอนจะเป็นผู้ตอบว่าใช่หรือไม่ใช่   วิธีนี้ผู้เรียนจะมีโอกาสคิดมากขึ้น

ขั้นที่ 4   ให้ผู้เรียนบอกคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งที่ต้องการสอน
                จากกิจกรรมที่ผ่านมาในขั้นต้น ๆ  ผู้เรียนจะต้องพยายามหาคุณสมบัติเฉพาะตัวของตัวอย่างที่ใช่และไม่ใช่สิ่งที่ผู้สอนต้องการสอน   และทดสอบคำตอบของตน   หากคำตอบของตนผิด  ผู้เรียนก็จะต้องหาคำตอบใหม่   ซึ่งก็หมายความว่าต้องเปลี่ยนสมมติฐานที่เป็นฐานของคำตอบเดิม    ซึ่งก็จะมาจากคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งนั้นนั่นเอง

ขั้นที่ 5   ให้ผู้เรียนสรุปและให้คำจำกัดความของสิ่งที่ต้องการสอน
    เมื่อผู้เรียนได้รายการของคุณสมบัติเฉพาะของสิ่งที่ต้องการสอนแล้ว   ผู้สอนให้ผู้เรียนช่วยกันเรียบเรียงให้เป็นคำนิยามหรือจำกัดความ

ขั้นที่ 6   ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายร่วมกันถึงวิธีการที่ผู้เรียนใช้ในการแสวงหาคำตอบให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการคิดของตัวเอง
              ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับเรียนรู้จากแบบ
          เนื่องจากผู้เรียนเกิดการเรียนรู้มโนทัศน์   จากการคิดวิเคราะห์  และตัวอย่างที่หลากหลาย  ดังนั้นผลที่ผู้เรียนจะได้รับโดยตรง คือ จะเกิดความเข้าใจในมโนทัศน์นั้น  และได้เรียนรู้ทักษะการสร้างมโนทัศน์ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการทำความเข้าใจมโนทัศน์อื่น ๆ  ต่อไปได้  รวมทั้งช่วยพัฒนาทักษะการใช้เหตุผลโดยการอุปนัย (inductive  reasoning) 

1.2 รูปแบบการเรียนการสอนตามแนวคิดของกานเย (Gangne’s Insfructional Model) 

            ก .ทฤษฎี  หลักการ  แนวคิด  ดังนี้

            (ทิศนา   แขมณี. 2545 : 225 ; อ้างอิงจาก Gangne’ , 1985 : 70 – 90 ) ได้พัฒนาทฤษฎีเงื่อนไขการเรียนรู้ (Condition  of  Learning) ซึ่งมี 2 ส่วนใหญ่ ๆ คือ  ทฤษฎีการเรียนรู้และทฤษฎีการจัดการเรียนการสอน   ทฤษฎีการเรียนรู้ของกานเยอธิบายว่า  ปรากฏการณ์เรียนรู้มีองค์ประกอบ  3  ส่วน คือ 
          1) ผลการเรียนรู้หรือความสามารถด้านต่าง ๆ  ของมนุษย์  ซึ่งมีอยู่  5  ประเภท  คือ         
               - ทักษะทางปัญญา  (Intellectual  skill) ซึ่งประกอบด้วยการจำแนกแยกแยะ  การสร้างความคิดรวบยอด   การสร้างกฎ  การสร้างกระบวนการหรือกฎชั้นสูง        
              - กลวิธีในการเรียนรู้ (Cognitive  strategy) 
              - ภาษาหรือคำพูด (verbal  information)
              - ทักษะการเคลื่อนไหว (motor  skills) 
              - และเจตคติ (attitude) 
          2) กระบวนการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์  มนุษย์มีกระบวนการจัดกระทำข้อมูลในสมอง   ซึ่งมนุษย์จะอาศัยข้อมูลที่สะสมไว้มาพิจารณาเลือกจัดกระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่ง  และในขณะที่กระบวนการจัดกระทำข้อมูลภายในสมองกำลังเกิดขึ้น   เหตุการณืภายนอกร่างกายมนุษย์มีอิทธิพลต่อการส่งเสริมหรือการยับยั้งการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นภายในได้   ดังนั้นในการจัดการเรียนการสอน    กานเยจึงได้เสนอแนะว่า  ควรมีการจัดสภาพการเรียนการสอนให้เหมาะสมกับการเรียนรู้แต่ละประเภท   ซึ่งมีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกัน  และส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ภายในสมอง   โดยการจัดสภาพภายนอกให้เอื้อต่อกระบวนการเรียนรู้ภายในของผู้เรียน

          ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ

     เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้เนื้อหาสาระต่าง ๆ ได้อย่างดี   รวดเร็ว และสามารถจดจำสิ่งที่เรียนได้นาน

          ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
                กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบกานเย   ประกอบด้วยการดำเนินการเป็นลำดับขั้นตอนรวม  9  ขั้น   ดังนี้
      ขั้นที่ 1   การกระตุ้นและดึงดูดความสนใจของผู้เรียน   เป็นการช่วยให้ผู้เรียนสามารถรับสิ่งเร้า  หรือสิ่งที่จะเรียนรู้ได้ดี
      ขั้นที่ 2   การแจ้งวัตถุประสงค์ของบทเรียนให้ผู้เรียนทราบ  เป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้รับรู้ความคาดหวัง
      ขั้นที่ 3   การกระตุ้นให้ระลึกถึงความรู้เดิมเป็นการช่วยให้ผู้เรียนดึงข้อมูลเดิมที่อยู่ในหน่วยความจำระยะยาวให้มาอยู่ในหน่วยความจำเพื่อใช้งาน (working  memory) ซึ่งจะช่วยให้ผู้เรียนเกิดความพร้อมในการเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิม
      ขั้นที่4   การนำเสนอสิ่งเร้าหรือเนื้อหาสาระใหม่ ผู้สอนควรจะจัดสิ่งเร้าให้ผู้เรียนเห็นลักษณะสำคัญของสิ่งเร้านั่นอย่างชัดเจน  เพื่อความสะดวกในการเลือกรับรู้ของผู้เรียน
      ขั้นที่5   การให้แนวการเรียนรู้  หรือการจัดระบบข้อมูลให้มีความหมาย   เพื่อช่วยให้ผู้เรียนสามารถทำความเข้าใจกับสาระที่เรียนได้ง่ายและเร็วขึ้น
      ขั้นที่6   การกระต้นให้ผู้เรียนแสดงความสามารถ   เพื่อให้ผู้เรียนมีโอกาสตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือสาระที่เรียน   ซึ่งจะช่วยให้ทราบถึงสาระการเรียนรู้ที่เกิดขึ้นในตัวผู้เรียน
      ขั้นที่7   การให้ข้อมูลป้อนกลับ  เป็นการให้การเสริมแรงแก่ผู้เรียน  และข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้เรียน
      ขั้นที่8  การประเมินผลการแสดงออกของผู้เรียน  เพื่อช่วยให้ผู้เรียนทราบว่าตนเองสามารถบรรลุวัตถุประสงค์ได้มากน้อยเพียงใด
      ขั้นที่9  การส่งเสริมการคงทนและการถ่ายโอนการเรียนรู้  โดยการให้โอกาสผู้เรียนได้มีการฝึกฝนอย่างพอเพียงและในสถานการณ์ที่หลากหลาย   เพื่อช่วยให้ผู้เรียนเกิดความเข้าใจที่ลึกซึ้งขึ้น  และสามารถถ่ายโอนการเรียนรู้ไปสู่สถานการณ์อื่น ๆ ได้

                   ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจาการเรียนตามรูปแบบ
  
                   เนื่องจากการเรียนการสอนตามรูปแบบนี้   จัดขึ้นให้ส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้และจดจำของมนุษย์   ดังนั้น  ผู้เรียนจะสามารถเรียนรู้สาระที่นำเสนอได้อย่างดี  รวดเร็วและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้นาน  นอกจากนั้นผู้เรียนยังได้เพิ่มพูนทักษะในการจัดระบบข้อมูลสร้างความหมายของข้อมูล  รวมทั้งการแสดงความสามารถของตนด้วย

1.3 รูปแบบการเรียนการสอนโดยการนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า (Advance Organizer Model)
        ก. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
                การนำเสนอมโนทัศน์กว้างล่วงหน้า(Advanced Organizer) เพื่อการเรียนรู้อย่างมีความหมาย (meaningful verbal learning) การเรียนรู้จะมีความหมายเมื่อสิ่งที่เรียนรู้สามารถเชื่อมโยงกับความรู้เดิมของผู้เรียน ดังนั้นในการสอนสิ่งใหม่ สาระความรู้ใหม่ ผู้สอนควรวิเคราะห์หาความคิดรวบยอดย่อย ๆ ของสาระที่จะนำเสนอ จัดทำผังโครงสร้างของความคิดรวบยอดเหล่านั้นแล้ววิเคราะห์หามโนทัศน์หรือความคิดรวบยอดที่กว้างครอบคลุมความคิดรวบยอดย่อย ๆ ที่จะสอน หากครูนำเสนอมโนทัศน์ที่กว้างดังกล่าวแก่ผู้เรียนก่อนการสอนเนื้อหาสาระใหม่ ขณะที่ผู้เรียนกำลังเรียนรู้สาระใหม่ ผู้เรียนจะสามารถ นำสาระใหม่นั้นไปเกาะเกี่ยวเชื่อมโยงกับมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้ล่วงหน้าแล้ว ทำให้การเรียนรู้นั้นมีความหมายต่อผู้เรียน
        ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้เนื้อหาสาระ ข้อมูลต่าง ๆ อย่างมีความหมาย
        ค. กระบวนการเรียนการสอน
                ขั้นที่ 1 การจัดเตรียมมโนทัศน์กว้าง โดยการวิเคราะห์หามโนทัศน์ที่กว้างและครอบคลุมเนื้อหาสาระใหม่ทั้งหมด มโนทัศน์ที่กว้างนี้ ไม่ใช่สิ่งเดียวกับมโนทัศน์ใหม่ที่จะสอน แต่จะเป็นมโนทัศน์ในระดับที่เหนือขึ้นไปหรือสูงกว่า ซึ่งจะมีลักษณะเป็นนามธรรมมากกว่า ปกติมักจะเป็นมโนทัศน์ของวิชานั้นหรือสายวิชานั้น ควรนำเสนอมโนทัศน์กว้างนี้ล่วงหน้าก่อนการสอน จะเป็นเสมือนการ”preview” บทเรียน ซึ่งจะเป็นคนละอย่างกับการ”over view” หรือการให้ดูภาพรวมของสิ่งที่จะสอน การนำเสนอภาพรวมของสิ่งที่จะสอน การทบทวนความรู้เดิม การซักถามความรู้และประสบการณ์ของผู้เรียนเกี่ยวกับเรื่องที่จะสอน การบอกวัตถุประสงค์ของการเรียนการสอน เหล่านี้ ไม่นับว่าเป็น “advance organizer” ซึ่งจะต้องมีลักษณะที่กว้างครอบคลุม และมีความเป็นนามธรรมอยู่ในระดับสูงกว่าสิ่งที่จะสอน
                ขั้นที่ 2 การนำเสนอมโนทัศน์กว้าง 
                        1) ผู้สอนชี้แจงวัตถุประสงค์ของบทเรียน
                        2) ผู้สอนนำเสนอมโนทัศน์กว้างด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่นการบรรยายสั้น ๆ แสดงแผนผังมโนทัศน์ ยกตัวอย่าง หรือใช้การเปรียบเทียบ เป็นต้น
                ขั้นที่ 3 การนำเสนอเนื้อหาสาระใหม่ของบทเรียน
        ผู้สอนนำเสนอเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามปกติแต่ในการนำเสนอ ผู้สอนควรกล่าวเชื่อมโยงหรือกระตุ้นให้ผู้เรียนเชื่อมโยงกับมโนทัศน์ที่ให้ไว้ล่วงหน้าเป็นระยะ ๆ
                ขั้นที่ 4 การจัดโครงสร้างความรู้
ผู้สอนส่งเสริมกระบวนการจัดโครงสร้าง ความรู้ของผู้เรียนด้วยวิธีการต่าง ๆ เช่น ส่งเสริมการผสมผสานความรู้ กระตุ้นให้ผู้เรียนตื่นตัวในการเรียนรู้ และทำความกระจ่างในสิ่งที่เรียนรู้ โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เช่น
                        1) อธิบายภาพรวมของเรื่องที่เรียน
                        2) สรุปลักษณะสำคัญของเรื่อง
                        3) บอกหรือเขียนคำนิยามที่กะทัดรัดชัดเจน
                        4) บอกความแตกต่างของสาระในแง่มุมต่าง ๆ
                        5) อธิบายว่าเนื้อหาสาระที่เรียนสนับสนุนหรือส่งเสริมมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้ล่วงหน้าอย่างไร
                        6) อธิบายความเชื่อมโยงระหว่างเนื้อหาสาระใหม่กับมโนทัศน์กว้างที่ให้ไว้ล่วงหน้า
                        7) ยกตัวอย่างเพิ่มเติมจากสิ่งที่เรียน
                        8) อธิบายแก่นสำคัญของสาระที่เรียนโดยใช้คำพูดของตัวเอง
                        9) วิเคราะห์สาระในแง่มุมต่าง ๆ 
        ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนรู้ตามรูปแบบ
        ผลโดยตรงที่ผู้เรียนจะได้รับก็คือ เกิดการเรียนรู้ในเนื้อหาสาระและข้อมูลของบทเรียน

อย่างมีความหมาย เกิดความคิดรวบยอดในสิ่งที่เรียน และสามารถจัดโครงสร้างความรู้ของตนเองได้ นอกจากนั้นยังได้พัฒนาทักษะและอุปนิสัยในการคิดและเพิ่มพูนความใฝ่รู้

1.4รูปแบบการเรียนการสอนเน้นความจำ  (memory  model)

             ก .ทฤษฎี  หลักการ  แนวคิด  ดังนี้  

            จอยส์และวิลส์ (ทิศนา    แขมณี. 2545 : 229 ; อ้างอิงจาก Joyce & Weil , 1996 : 209 - 231) ได้พัฒนาขึ้นโดยอาศัยหลัก  6  ประการเกี่ยวกับ
               1)   การตระหนักรู้ (awareness) ซึ่งกล่าวว่าการที่บุคคลจะจดจำสิ่งใดได้ดีนั้น  จะต้องเริ่มจากการรับรู้สิ่งนั้น  หรือการสังเกตสิ่งนั้นอย่างตั้งใจ  และ
               2)   การเชื่อมโยง (assosiation) กับสิ่งที่รู้แล้วหรือจำได้
               3)   ระบบการเชื่อมโยง ( link  system) คือระบบในการเชื่อมความคิดหลายความคิดเข้าด้วยกันในลักษณะที่ความคิดหนึ่งจะไปกระตุ้นให้จำอีกความคิดหนึ่งได้ 
               4)   การเชื่อมโยงที่น่าขบขัน (ridiculous assosiation) การเชื่อมโยงที่จะช่วยให้บุคคลจดจำได้ดีนั้น  มักจะเป็นสิ่งที่แปลกไปจากปกติธรรมดา  การเชื่อมโยงในลักษณะที่แปลก  เป็นไปไม่ได้  ชวนให้ขบขัน  มักจะประทับในความทรงจำของบุคคลเป็นเวลานาน
               5)   ระบบการใช้คำทดแทน
               6)   การใช้คำสำคัญ (key  word) ได้แก่  การใช้คำ  อักษรหรือพยางค์เพียงตัวเดียว  เพื่อช่วยกระตุ้นให้จำสิ่งอื่น ๆ  ที่เกี่ยวกันได้

               ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ

                รูปแบบนี้มีวัตถุประสงค์ช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระที่เรียนรู้ได้ดีและได้นาน  และได้เรียนรู้กลวิธีการจำ  ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้สาระอื่น ๆ ได้อีก

               ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
    
               ในการเรียนการสอนสาระใด ๆ ผู้สอนสามารถช่วยให้ผู้เรียนจดจำเนื้อหาสาระนั้นได้ดีและนานโดยการดำเนินการดังนี้
               ขั้นที่1    การสังเกตหรือศึกษาสาระอย่างตั้งใจ
                            ผู้สอนช่วยให้ผู้เรียนตระหนักรู้ในสาระที่เรียน  โดยการใช้เทคนิคต่าง ๆ เช่น  ให้อ่านเอกสารแล้วขีดเส้นใต้คำ / ประเด็นที่สำคัญให้ตั้งคำถามจากเรื่องที่อ่าน  ให้หาคำตอบของคำถามต่าง ๆ  เป็นต้น
               ขั้นที่2   การสร้างความเชื่อมโยง  
         เมื่อผู้เรียนได้ศึกษาสาระที่ต้องเรียนรู้แล้วให้ผู้เรียนเชื่อมโยงเนื้อหาส่วนต่าง ๆ  ที่ต้องการจดจำกับสิ่งที่ตนคุ้นเคย เช่น  กับคำ  ภาพ  หรือความคิดต่าง ๆ   (ตัวอย่างเช่น  เด็กจำไม่ได้ว่าค่ายบางระจัน  อยู่จังหวัดอะไร  จึงโยงความคิดว่า  ชาวบ้านบางระจัญเป็นคนกล้าหาญ  สัตว์ที่ถือว่าเก่งกล้าคือสิงห์โต  บางระจันจึงอยู่ที่จังหวัดสิงห์บุรี) หรือให้หาหรือคิดคำสำคัญที่ไม่คุ้นหรือยากด้วยคำ  ภาพ  หรือความหมายอื่น ๆ  หรือการใช้การเชื่อมโยงความคิดเข้าด้วยกัน
                ขั้นที่3   การใช้จินตนาการเพื่อให้จดจำสาระได้ดีขึ้น  ให้ผู้เรียนใช้เทนนิคการเชื่อมโยงสาระต่าง ๆ  ให้เห็นเป็นภาพที่น่าขบขัน  เกินความเป็นจริง
ขั้นที่4   การใช้เทคนิคต่าง ๆ  ที่ทำไว้ข้างต้นในการทบทวนความรู้และเนื้อหาสาระต่าง ๆ  จนกระทั่งจดจำได้
   
                 ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ
    

                  การเรียนโดยใช้เทคนิคช่วยความจำต่าง ๆ ของรูปแบบ  นอกจากจะช่วยให้ผู้เรียนสามารถจดจำเนื้อหาสาระต่าง ๆ  ที่เรียนได้ดีและได้นานแล้ว  ยังช่วยให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้กลวิธีการจำ  ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้สาระอื่น ๆ ได้

1.5 รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิก (Graphic Organizer Instructional Model)
                ก. ทฤษฎี/หลักการ/แนวคิดของรูปแบบ
                     กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากองค์ประกอบสำคัญ 3 ส่วนด้วยกันได้แก่ ความจำข้อมูล กระบวนการทางปัญญา และเมตาคอคนิชั่น ความจำข้อมูลประกอบด้วย ความจำจากการรู้สึกสัมผัส (sensory memory) ซึ่งจะเก็บข้อมูลไว้เพียงประมาณ 1 วินาทีเท่านั้น ความจำระยะสั้น (short-term memory) หรือความจำปฏิบัติการ (working memory) ซึ่งเป็นความจำที่เกิดขึ้นหลังจากการตีความสิ่งเร้าที่รับรู้มาแล้ว ซึ่งจะเก็บข้อมูลไว้ได้ชั่วคราวประมาณ 20 วินาที และทำหน้าที่ในการคิด ส่วนความจำระยะยาว (long- term memory) เป็นความจำที่มีความคงทน มีความจุไม่จำกัดสามารถคงอยู่เป็นเวลานาน เมื่อต้องการใช้จะสามารถเรียกคืนได้ สิ่งที่อยู่ในความจำระยะยาวมี 2 ลักษณะ คือ ความจำเหตุการณ์  (episodic memory) และความจำความหมาย (semantic memory) เกี่ยวกับข้อเท็จจริง มโนทัศน์ กฎ หลักการต่าง ๆ องค์ประกอบด้านความจำข้อมูลนี้ จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด ขึ้นกับกระบวนการทางปัญญาของบุคคลนั้น ซึ่งประกอบด้วย
                1. การใส่ใจ หากบุคคลมีความใส่ใจในข้อมูลที่รับเข้ามาทางการสัมผัส ข้อมูลนั้นก็จะถูกนำ
เข้าไปสู่ความจำระยะสั้นต่อไป หากไม่ได้รับการใส่ใจ ข้อมูลนั้นก็จะเลือนหายไปอย่างรวดเร็ว
                2. การรับรู้ เมื่อบุคคลใส่ใจในข้อมูลใดที่รับเข้ามาทางประสาทสัมผัส บุคคลก็จะรับรู้ข้อมูลนั้น และนำข้อมูลนี้เข้าสู่ความจำระยะสั้นต่อไป ข้อมูลที่รับรู้นี้จะเป็นความจริงตามการรับรู้ของบุคคลนั้น ซึ่งอาจไม่ใช่ความจริงเชิงปรนัย เนื่องจากเป็นความจริงที่ผ่านการตีความจากบุคคลนั้นมาแล้ว
                3. การทำซ้ำ หากบุคคลมีกระบวนการรักษาข้อมูล โดยการทบทวนซ้ำแล้วซ้ำอีก ข้อมูลนั้นก็จะยังคงถูกเก็บรักษาไว้ในความจำปฏิบัติการ
                4. การเข้ารหัส หากบุคคลมีกระบวนการสร้างตัวแทนทางความคิดเกี่ยวกับข้อมูลนั้นโดยมีการนำข้อมูลนั้นเข้าสู่ความจำระยะยาวและเชื่อมโยงเข้ากับสิ่งที่มีอยู่แล้วในความจำระยะยาว การเรียนรู้อย่างมีความหมายก็จะเกิดขึ้น
                5. การเรียกคืน การเรียกคืนข้อมูลที่เก็บไว้ในความจำระยะยาวเพื่อนำออกมาใช้ มีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการเข้ารหัส หากการเข้ารหัสทำให้เกิดการเก็บความจำได้ดีมีประสิทธิภาพ การเรียกคืนก็จะมีประสิทธิภาพตามไปด้วย
                     ด้วยหลักการดังกล่าว การเรียนรู้จึงเป็นการสร้างความรู้ของบุคคล ซึ่งต้องใช้กระบวนการ
เรียนรู้อย่างมีความหมาย 4 ขั้นตอนได้แก่ (1) การเลือกรับข้อมูลที่สัมพันธ์กัน (2) การจัดระเบียบข้อมูลเข้าสู่โครงสร้าง (3) การบูรณาการข้อมูลเดิม และ (4) การเข้ารหัสข้อมูลการเรียนรู้เพื่อให้คงอยู่ในความจำระยะยาว และสามารถเรียกคืนมาใช้ได้โดยง่าย ด้วยเหตุนี้ การให้ผู้เรียนมีโอกาสเชื่อมโยงความรู้ใหม่กับโครงสร้างความรู้เดิม ๆ และนำความรู้ความเข้าใจมาเข้ารหัสหรือสร้างตัวแทนทางความคิดที่มีความหมายต่อตนเองขึ้น จะส่งผลให้การเรียนรู้นั้นคงอยู่ในความจำระยะยาวและสามารถเรียกคืนมาใช้ได้
                ข. วัตถุประสงค์ของรูปแบบ
                     เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้เชื่อมโยงความรู้ใหม่กับความรู้เดิมและสร้างความหมายและความเข้าใจในเนื้อหาสาระหรือข้อมูลที่เรียนรู้ และจัดระเบียบข้อมูลที่เรียนรู้ด้วยผังกราฟิก ซึ่งจะช่วยให้ง่ายแก่การจดจำ
                ค. กระบวนการเรียนการสอนของรูปแบบ
                    รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิก มีหลายรูปแบบ ในที่นี้จะนำเสนอไว้ 3 รูปแบบ ดังนี้
                1. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิกของ โจนส์และคณะ(1989: 20-25)
ประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ ๆ 5 ขั้นตอนดังนี้
                        1.1) ผู้สอนเสนอตัวอย่างการจัดข้อมูลด้วยผังกราฟิกที่เหมาะสมกับเนื้อหาและวัตถุประสงค์ 
                        1.2) ผู้สอนแสดงวิธีสร้างผังกราฟิก
                        1.3) ผู้สอนชี้แจงเหตุผลของการใช้ผังกราฟิกนั้นและอธิบายวิธีการใช้
                        1.4) ผู้เรียนฝึกการสร้างและใช้ผังกราฟิกในการทำความเข้าใจเนื้อหาเป็นรายบุคคล
                        1.5) ผู้เรียนเข้ากลุ่มและนำเสนอผังกราฟิกของตนแลกเปลี่ยนกัน
                2. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิกของคล้าก(Clark,1991: 526-524) ประกอบด้วยขั้นตอนการเรียนการสอนที่สำคัญ ๆ ดังนี้
                        ก. ขั้นก่อนสอน
                                2.1) ผู้สอนพิจารณาลักษณะของเนื้อหาที่จะสอนสาระนั้นและวัตถุประสงค์ของ
การสอนเนื้อหาสาระนั้น
                                2.2) ผู้สอนพิจารณาและคิดหาผังกราฟิกหรือวิธีหรือระบบในการจัดระเบียบเนื้อหาสาระนั้น ๆ 
                                2.3) ผู้สอนเลือกผังกราฟิก หรือวิธีการจัดระเบียบเนื้อหาที่เหมาะสมที่สุด
                                2.4) ผู้สอนคาดคะเนปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้เรียนในการใช้ผังกราฟิกนั้น
                        ข. ขั้นสอน
                                2.1) ผู้สอนเสนอผังกราฟิกที่เหมาะสมกับลักษณะของเนื้อหาสาระแก่ผู้เรียน
                                2.2) ผู้เรียนทำความเข้าใจเนื้อหาสาระและนำเนื้อหาสาระใส่ลงในผังกราฟิกตามความเข้าใจของตน
                                2.3) ผู้สอนซักถาม แก้ไขความเข้าใจผิดของผู้เรียน หรือขยายความเพิ่มเติม
                                2.4) ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนคิดเพิ่มเติม โดยนำเสนอปัญหาที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา
แล้วให้ผู้เรียนใช้ผังกราฟิกเป็นกรอบในการคิดแก้ปัญหา
                                2.5) ผู้สอนให้ข้อมูลป้อนกลับแก่ผู้เรียน
                3. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิกของจอยส์และคณะ(Joyce et al., 1992: 159-161)  จอยส์และคณะ นำรูปแบบการเรียนการสอนของคล้ากมาปรับใช้โดยเพิ่มเติมขั้นตอนเป็น 8 ขั้น ดังนี้
                        3.1) ผู้สอนชี้แจงจุดมุ่งหมายของบทเรียน
                        3.2) ผู้สอนนำเสนอผังกราฟิกที่เหมาะสมกับเนื้อหา
                        3.3) ผู้สอนกระตุ้นให้ผู้เรียนระลึกถึงความรู้เดิมเพื่อเตรียมสร้างความสัมพันธ์กับความรู้ใหม่
                        3.4) ผู้สอนเสนอเนื้อหาสาระที่ต้องการให้ผู้เรียนได้เรียนรู้
                        3.5) ผู้สอนเชื่อมโยงเนื้อหาสาระกับผังกราฟิก และให้ผู้เรียนนำเนื้อหาสาระใส่ลงในผังกราฟิกตามความเข้าใจของตน
                        3.6) ผู้สอนให้ความรู้เชิงกระบวนการโดยชี้แจงเหตุผลในการใช้ผังกราฟิกและวิธีใช้ผังกราฟิก
                        3.7) ผู้สอนและผู้เรียนอภิปรายผลการใช้ผังกราฟิกกับเนื้อหา
                        3.8) ผู้สอนซักถาม ปรับความเข้าใจและขยายความจนผู้เรียนเกิดความเข้าใจกระจ่างชัด
                4. รูปแบบการเรียนการสอนโดยใช้ผังกราฟิกของสุปรียา ตันสกุล (2540: 40) 
                        สุปรียา ตันสกุล ได้ศึกษาวิจัยเรื่อง ” ผลของการใช้รูปแบบการสอนแบบการจัดข้อมูล
ด้วยแผนภาพ(Graphic Organizers) ที่มีต่อสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนและความสามารถทางการแก้ปัญหาของนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีที่ 2 คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล” ผลการวิจัยพบว่า นักศึกษากลุ่มทดลองมีคะแนนเฉลี่ยสัมฤทธิ์ผลทางการเรียนและความสามารถทางการแก้ปัญหาสูงกว่านักศึกษากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .001 รูปแบบการเรียนการสอนดังกล่าวประกอบด้วยขั้นตอนสำคัญ 7 ขั้นตอนดังนี้
                        4.1) การทบทวนความรู้เดิม
                        4.2) การชี้แจงวัตถุประสงค์ ลักษณะของบทเรียน ความรู้ที่คาดหวังให้เกิดแก่ผู้เรียน
                        4.3) การกระตุ้นให้ผู้เรียนตระหนักถึงความรู้เดิม เพื่อเตรียมสร้างความสัมพันธ์กับสิ่งที่เรียนและการจัดเนื้อหาสาระด้วยแผนภาพ
                        4.4) การนำเสนอตัวอย่างการจัดเนื้อหาสาระด้วยแผนภาพ ที่เหมาะกับลักษณะของเนื้อหาความรู้ที่คาดหวัง
                        4.5) ผู้เรียนรายบุคคลทำความเข้าใจเนื้อหาและฝึกใช้แผนภาพ
                        4.6) การนำเสนอปัญหาให้ผู้เรียนใช้แผนภาพเป็นกรอบในการแก้ปัญหา
                        4.7) การทำความเข้าใจให้กระจ่างชัด
                ง. ผลที่ผู้เรียนจะได้รับจากการเรียนตามรูปแบบ

                ผู้เรียนจะมีความเข้าใจในเนื้อหาสาระที่เรียนและจดจำสิ่งที่เรียนรู้ได้ดี นอกจากนั้นยังได้เรียนรู้การใช้ผังกราฟิกในการเรียนรู้ต่าง ๆ ซึ่งผู้เรียนสามารถนำไปใช้ในการเรียนรู้เนื้อหาสาระอื่น ๆ ได้อีกมาก

ที่มา พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.
         https://www.gotoknow.org/posts/374327

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น