การวางแผนการสอนสามารถกระทำได้ 2 แนว คือ การวางแผนระยะยาว และการวางแผนระยะสั้น
1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่วยการสอนซึ่งครอบคลุมเนื้อหาสาระค่อนข้างกว้าง ต้องใช้เวลาในการสอน เป็นสัปดาห์หรือเป็นเดือน เป็นภาคเรียนหรือเป็นปี ด้วยการทำเป็นโครงการสอน ซึ่งเรียกตามหลักสูตรเก่า หรือหลักสูตรใหม่ เรียกว่ากำหนดการสอนนั่นเอง
2. การวางแผนระยะสั้น หมายถึง การวางแผนการสอนของบทเรียนแต่ละเรื่อง ให้เป็นไปตามความมุ่งหมายที่กำหนดไว้ ผู้สอนที่ดีจำเป็นต้องวางแผนล่วงหน้าในการสอนทุกเรื่อง การวางแผนของผู้สอนอาจทำในรูปแบบต่าง ๆ กัน และอาจเรียกว่าบันทึกการสอนตามหลักสูตรเก่าหรือแผนการสอนแต่ในปัจจุบันสถานศึกษาทุกแห่งก็ยังคงใช้คำว่าแผนการสอน ให้ใช้คำว่าแผนการเรียนรู้หรือแผนการจัดการเรียนรู้แทนซึ่ง สถานศึกษาบางแห่งก็ยังคงใช้คำว่าแผนการสอนอยู่ เพราะสร้างความเข้าใจง่ายเป็นแผนที่ครูเป็นผู้จัดทำออกแบบและใช้ในการจัดการเรียนการสอนหรือการเรียนรู้
มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมมาธิราช (2539, หน้า 370-371) ได้แบ่งชนิดของการทำแผนการจัดการเรียนรู้ เป็น 3 ชนิด ดังนี้
1. การทำแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาว ต้องการให้ครูมองเห็นการไกลอาจจะเป็น
การทำแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับหนึ่งภาคเรียน หรือหนึ่งปี เป็นการเตรียมทำแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อจะกำหนดสอนอะไรบ้าง เริ่มต้นจากไหนจะสิ้นสุดตรงไหน จะทำการทดสอบเมื่อใด
กี่ครั้งการทำแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวโดยเฉพาะในภาคเรียนหนึ่งๆ ต้องใช้เวลามาก ดังนั้นจึงมักจะมีการเตรียมทำแผนการจัดการเรียนรู้ไว้แต่เนิ่นๆ ก่อนเปิดเทอม โดยผู้สอนในระดับชั้นเดียวกันมาร่วมกันพิจารณา เพื่อจะได้ข้อคิดที่กว้างขวางขึ้น แต่แผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวนี้เป็นการกำหนดระยะเวลาในเนื้อหาที่สำคัญเท่านั้นไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับวิธีการสอน เพราะครูไม่สามารถทราบลักษณะและประสบการณ์เดิมของผู้เรียน แต่อย่างไรก็ตามผู้สอนก็ใช้การคาดคะเนในการทำแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวไว้ก่อนโดยอาศัยแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวจากภาคเรียนก่อน
2. การทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับหน่วย หลังจากที่ผู้สอนได้รู้จักผู้เรียนมากขึ้นแล้ว เมื่อเปิดภาคเรียน ครูควรจะทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ละเอียดขึ้นกว่าแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวโดยครูจะมุ่งความสนใจเตรียมการสอนเฉพาะเจาะจงในหน่วยเนื้อหาวิชา ว่าหน่วยการสอนนั้น ๆ จะสอนอย่างไร สอนชั้นใด ใช้เวลาสอนกี่คาบเรียน มีจุดประสงค์ใดในการสอนหน่วยนั้น ใช้กิจกรรมใดเป็นหลัก และสื่อการสอนที่ใช้มีอะไรบ้างเพื่อให้ครูได้เตรียมทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับหน่วยการเรียนนั้น ๆ
3. การทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับบทเรียน เป็นการทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ละเอียดที่สุด โดยการเตรียมเนื้อหาแต่ละบทเรียนที่จะสอนในคาบเรียนหนึ่ง ๆ ผู้สอนแต่ละคนจะทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับบทเรียนของตนเองเพื่อให้เหมาะกับผู้เรียนที่จะต้องสอน เนื้อหากิจกรรมการเรียน สื่อ การสอน การประเมินผล การเตรียมการสอนระดับนี้ควรจะเตรียมล่วงหน้าก่อนสอนจริงประมาณ 2-3 วันจากชนิดของการทำแผนการจัดการเรียนรู้ สรุปได้ว่า ชนิดของการทำแผนการจัดการเรียนรู้แบ่งออกเป็น3 ชนิด คือ การทำแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาว เป็นการทำแผนการจัดการเรียนรู้สำหรับภาคเรียนหรือปีการศึกษา จะกำหนดระยะเวลาในเนื้อหาที่สำคัญเท่านั้น การทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับหน่วย จะละเอียดกว่าแผนการจัดการเรียนรู้ระยะยาวเป็นการเตรียมการสอนเฉพาะเจาะจงในหน่วยการสอนแต่ละหน่วย โดยกำหนดเวลาที่จะสอน จุดประสงค์การสอนในหน่วยนั้น กิจกรรมการเรียนและการสื่อการสอน ให้เหมาะสมกับหน่วยนั้น ๆ และการทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับบทเรียนเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ละเอียดที่สุดเป็นการเตรียมเนื้อหาแต่ละบทที่จะสอนในคาบหนึ่งๆ ผู้สอนจะเป็นผู้ทำแผนการจัดการเรียนรู้ระดับบทเรียนของตนเอง
ความหมายของกำหนดการสอน
การกำหนดการสอนเป็นการเตรียมการสอนล่วงหน้าของผู้สอนในระยะยาว สำหรับวิชาใดวิชาหนึ่ง โดยกำหนดเนื้อหาสาระที่จะต้องดำเนินการสอนในระยะเวลาต่าง ๆ เช่น การกำหนดการสอนตลอดทั้งปี ตลอดเทอม และตลอดสัปดาห์ ดังนั้นการกำหนดการสอนจึงอาจแบ่งได้ 3 ชนิดคือ
1. กำหนดการสอนรายปี
2. กำหนดการสอนรายภาค
3. กำหนดการสอนรายสัปดาห์
การกำหนดการสอนต้องคำนึงถึงกำหนดวันปิดและเปิดภาคเรียนวันหยุด วันสำคัญต่าง ๆ การหยุดเรียนในวันที่มีกิจกรรมพิเศษ ตลอดจน การกำหนด วันสอบย่อย สอบปลายเทอม การกำหนดการสอน เปรียบเสมือนการกำหนดตารางเวลา การดำเนินการสอนของผู้สอน การกำหนดเวลาและเนื้อหาสาระที่สัมพันธ์กันอย่างเหมาะสม โดยกำหนดเรื่องใดตอนใด ต้องสอนก่อนหลัง ใช้เวลาแต่ละเรื่องมากน้อยเท่าใด ซึ่งจะช่วยให้ผู้สอนสอนทันตามกำหนดที่ต้องการ
หลักการทำกำหนดการสอน
ผู้สอนควรทำแผนการสอนของกรมวิชาการ หรือแผนการสอนแม่บทกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งเขียนไว้เพียงย่อ ๆ หรือคร่าว ๆ มาพิจารณาหัวข้อเป็นหัวข้อย่อย บางหน่วยต้องเพิ่มเติมต้องนำไปทำแผนการสอนอย่างละเอียดอีกครั้ง ดังนั้นการทำกำหนดการสอนก็เพื่อให้ผู้สอนกำหนดแนวทางในการสอนตลอดปี หรือตลอดภาคการเรียนว่า จะสอนอย่างไรให้เนื้อหากับเวลาในการสอนสัมพันธ์กัน การทำกำหนดการสอนสามารถทำได้โดย
1. ผู้สอนที่สอนในระดับเดียวกันมาร่วมกันพิจารณาด้วย
2. ช่วยกันสำรวจจำนวนคาบที่จะสอนในแต่ละหน่วยว่าเหมาะสมหรือไม่
3. นำหัวข้อแต่ละหัวข้อย่อยมากำหนด ในการกำหนดการสอนโดยให้สัมพันธ์กับเวลาหรือจำนวนคาบที่ใช้สอนโดยพิจารณาอย่างละเอียดถี่ถ้วน
4. พิจารณาจำนวนคาบเวลาในแต่ละสัปดาห์ของแต่ละวิชาให้สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างเวลาเรียนกับเนื้อหาแต่ละหัวข้อ
ประโยชน์ของการกำหนดการสอน
การทำกำหนดการสอนมีประโยชน์ ดังนี้
1. ใช้เป็นแนวทางในการทำแผนการสอน เพื่อใช้สอนได้สะดวก ผู้สอนสามารถเข้าใจและมองเห็นงานของตนได้ล่วงหน้าชัดเจน สามารถพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมอยู่เสมอ เป็นการคิดวางแผนไว้ล่วงหน้า ทำให้การสอนของผู้สอนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และการเรียนรู้ของผู้เรียนเป็นไปอย่างได้ผล
2. ช่วยให้การสอนเป็นไปตามหลักสูตร เหมาะสมกับผู้เรียน และสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม และชุมชนอยู่เสมอ
3. ทำให้การเปลี่ยนแปลงผู้สอนใหม่ การรับงานของผู้สอนใหม่ การประสานสัมพันธ์ระหว่างผู้ช่วยสอนกับผู้สอน การจัดผู้สอนแทน ฯลฯ เป็นไปด้วยดีไม่กระทบกระเทือนต่อผู้เรียนเกินไป
4. ช่วยให้ผู้บริหาร ผู้นิเทศ รู้ลู่ทางที่จะแนะนำ ตลอดจนให้ความร่วมมือสนับสนุนด้วยประการต่าง ๆ
5. ทำให้การประเมินผลสะดวก เป็นไปตามจุดมุ่งหมายหรือจุดประสงค์ที่กำหนดไว้
ความหมายของแผนการสอน
แผนการสอนหรือในปัจจุบันใช้คำว่าแผนการจัดการเรียนรู้ เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ซึ่งหมายถึงแนวทางในการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นให้ผู้สอนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครูหรือผู้สอนอาจต้องปรับปรุงแผนการสอนเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่นได้ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหา กิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอนและการประเมินผล ทั้งนี้โดยความคิดรวบยอด จุดประสงค์การเรียนรู้ หรือผลลัพธ์การเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เป็นหลัก ดังนั้นในการทำแผนการสอน หรือในการปรับปรุงการสอนเพื่อให้เกิดการสอนที่ดีผู้สอนจะต้องมีการเตรียมตัวเป็นอย่างดีในหลาย ๆ ด้าน ได้แก่ ด้านความรู้ ด้านเทคนิควิธี ตลอดจนการนำสื่อมาใช้ เป็นต้น
ลักษณะของแผนการสอนที่ดี
แผนการสอนที่ดีควรมีลักษณะต่าง ๆ ดังนี้
1. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสถานศึกษา ตลอดจนปรัชญาของโรงเรียนด้วย
2. พิจารณากำหนดจุดประสงค์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับโรงเรียนและท้องถิ่น
3. มีการจัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับเวลา สภาพความต้องการ และความเป็นจริงของท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจ และให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนยิ่งขึ้น
4. มีการจัดลำดับหัวข้อรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละตอนให้กลมกลืนกัน พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เก่าให้สอดคล้องสัมพันธ์กันโดยตลอด
5. ควรมีการกำหนดกิจกรรมและประสบการณ์ คำนึงถึงวัยผู้เรียน สภาพแวดล้อม กาลเวลา ความสนใจของผู้เรียน รวมทั้งการใช้แหล่งวิทยาการในท้องถิ่นให้เป็นประโยชน์แก่การเรียนการสอนได้อย่างคุ้มค่า
องค์ประกอบของแผนการสอน
แผนการสอนโดยทั่วไปมีองค์ประกอบดังนี้
1. กลุ่มสาระวิชาและเรื่องที่จะสอน
2. หัวเรื่อง
3. ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ
4. จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
5. เนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้
6. กิจกรรมการเรียนการสอน
7. สื่อการเรียนการสอน
8. ประเมินผล
9. หมายเหตุ
รูปแบบของแผนการสอน
รูปแบบของแผนการสอนสามารถจัดกลุ่มตามลักษณะต่างๆได้ 2 ลักษณะดังนี้
1. รูปแบบของแผนการสอนตามลักษณะการเขียน
2. รูปแบบของแผนการสอนตามลักษณะของการใช้
อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.
https://wassanakasrimathematics.wordpress.com/แผนการจัดการเรียนรู้/
หน้าเเรก
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
-
การวางแผนการสอนสามารถกระทำได้ 2 แนว คือ การวางแผนระยะยาว และการวางแผนระยะสั้น 1. การวางแผนระยะยาว หมายถึง การวางแผนการสอนที่ยึดหน่...
-
หลักการออกแบบของ ADDIE model มีขั้นตอนดังนี้ 1. ขั้นการวิเคราะห์ Analysis 2. ขั้นการออกแบบ Design 3. ขั้นการพัฒนา Development 4. ขั...
-
ประมวลรายวิชา ( Course Syllabus) ชื่อรายวิชา การจัดการเรียนรู้ และการจัดการในชั้นเรียน หมวดวิชา วิชาเฉพาะ ระด...
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น