หน้าเเรก

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

การจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปการศึกษา



         การศึกษาของประเทศไทยในปัจจุบัน มุ่งไปสู่การให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ซึ่งการเรียนรู้มิใช่เป็นเพียงเรียนเพื่อรู้เท่านั้น แต่เป็นการเรียนเพื่อเพิ่มพูนประสบการณ์เรียนเพื่อรู้จักตัวเอง เรือนเพื่อรู้จักอยู่ร่วมกับผู้อื่น เรียนรู้เพื่อการเจริญงอกงามทั้งร่างกายและจิตใจ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ซึ่งถือว่าเป็นแกนหลักของการปฏิรูปและเป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษา ดังที่ประเวศ วะสี (2541, หน้า 68) กล่าวว่าการปฏิรูปกระบวนการเรียนรู้เป็นหัวใจของการปฏิรูปการศึกษาเพราะเป็นการปฏิรูปแนวคิดเกี่ยวกับการศึกษา จากเดิมที่การมองคนเป็นวัตถุที่จะต้องหล่อหลอมปั้นตกแต่งโดยการสั่งสอน อบรม ไปเป็นการมองคนในฐานะคนเป็นผู้มีศักยภาพในการเรียนรู้และงอกงามอย่างหลากหลาย


         สำหรับประเทศไทยได้จัดการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษามาระยะหนึ่ง โดยมีพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่สอง พ.ศ. 2545 เป็นแม่บทหรือเทศทางและนำลงสู่การปฏิบัติด้วยการกำหนดเนื้อหาสาระที่เกี่ยวข้องและสำคัญหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544 และพัฒนาเป็นหลักสูตรสถานศึกษาสำหรับสถานศึกษาแต่ละแห่งตามความเหมาะสม จากผลการจัดการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษานี้พบว่า บางพื้นที่ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เช่นผลการวิจัยของสำราญ ตติชรา (2547, หน้า 1) การศึกษาปัญหาการจัดการเรียนการสอนตามแนวการปฏิรูปการศึกษา ของครูในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองตราด พบว่าการจัดการเรียนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ตามแนวปฏิรูปการศึกษาของครูในโรงเรียนประถมศึกษาสังกัดสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเมืองตราด ยังมีปัญหาอยู่หลายประเด็นตามลำดับ คือ การประชาสัมพันธ์การสอนการจัดทำหลักสูตรท้องถิ่น การสอนที่เน้นกระบวนการคิดวิเคราะห์ การจัดสภาพแวดล้อมทางการสอนการให้ชุมชนมีส่วนร่วม ในการจัดการเรียนการสอนการประเมินผลตามสภาพจริง การสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ การทำวิจัยในชั้นเรียน การให้ผู้เรียนค้นคว้าด้วยตนเอง และเมื่อเปรียบเทียบปัญหาต่าง ๆ ในการจัดการเรียนรู้ปรากฏว่า ผลของปัญหาไม่แตกต่างกัน ดังนั้น ผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับการจัดการเรียนรู้ตามแนวการปฏิรูปการศึกษา จำเป็นต้องศึกษาและทำความเข้าใจ เกี่ยวกับพื้นฐานเรื่องนี้อย่างทองแท้จนสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น