หน้าเเรก

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ความหมายของการวางแผนการสอน



 นักการศึกษาได้ให้ความหมายของการวางแผนการสอนไว้ดังนี้
         ไพฑูรย์ สินลารัตน์ (หน้า68) ให้ความหมายของการวางแผนการสอนไว้ว่า การวางแผนการสอนเป็นกิจกรรมในการคาดคิดและการกระทำของครูก่อนที่จะเริ่มดำเนินการสอนในวิชาใดวิชาหนึ่งนั่นเอง ซึ่งโดยทั่วไปจะประกอบด้วยการกำหนดจุดมุ่งหมาย การคัดเลือกเนื้อหา การกำหนดกิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการเรียนการสอน และการประเมินผล
         วาสนา เพิ่มพูน (2542 หน้า 37) ให้ความหมายว่า การวางแผนการสอนเป็นการคิดล่วงหน้าอย่างรอบคอบ ว่าจะจัดกิจกรรมการเรียนการสอนอย่างไร เมื่อถึงเวลาจริงๆ ก็ดำเนินการไปตามแผนที่กำหนดได้ ถ้าหากไม่ได้วางแผนการเรียนการสอนไว้ล่วงหน้า ก็มักจะเกิดปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ มากมาย เกิดการกลระหนลืมสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือกิจกรรมที่ดำเนินไปนั้นไม่ดีเท่าที่ควร
         ชัยยงค์ พรหมวงศ์ (2543 หน้า 44) เสนอไว้ว่าการวางแผนการสอน เป็นส่วนหนึ่งของระบบการสอนที่เป็นการเตรียมการล่วงหน้าก่อนสอน โดยใช้ข้อมูลต่างๆ ที่รวบรวมได้จากการดำเนินงานตามระบบการสอน
         สำลี รักสุทธี (2544, หน้า 42) กล่าวว่า แผนการจัดการเรียนรู้ คือ แผนการหรือโครงการ ที่จัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อใช้ในการปฏิบัติการสอนในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นการระดมสรรพวิธีที่จะทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นเครื่องมือที่จะช่วยให้ครูพัฒนาการจัดการเรียนการสอนไปสู่จุดประสงค์การเรียนรู้ ตลอดจนพัฒนาผู้เรียนให้เต็มตามศักยภาพของตนเอง
         ณัฐวุฒิ กิจรุ่งเรือง (2545, หน้า 53) กล่าวว่า แผนการจัดการเรียนรู้ (Lesson Plan) หมายถึง การเตรียมการจัดการเรียนรู้ไว้ล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ และเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการจัดการเรียนรู้ในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง ให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายที่หลักสูตรกำหนดแผนจัดการเรียนรู้มี 2 ระดับได้แก่ ระดับหน่วยการเรียน (Unit Plan) และระดับบทเรียน (Lesson Plan)
         บูรชัย ศิริมหาสาคร (2545, หน้า 1) กล่าวว่า แผนการจัดการเรียนรู้ คือ เอกสารที่จัดทำขึ้นเพื่อแจกแจงรายละเอียดของหลักสูตร ทำให้ครูผู้สอนสามารถนำไปจัดการเรียนการสอนให้แก่นักเรียนเป็นรายคาบหรือ รายชั่วโมง และยังได้กล่าวว่า แผนการจัดการเรียนรู้ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า “Teaching Plan” หรือ “Lesson Plan” หมายถึง การวางแผนการจัดการเรียนรู้หรือการเตรียมการสอนล่วงหน้าก่อนที่จะทำการสอน แล้วจดบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้ใครก็ตามที่จะทำการสอนในวิชานั้น ๆ สามารถใช้เป็นแนวทางในการสอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ
          สรุปได้ว่า แผนการจัดการเรียนรู้ คือ การเตรียมการจัดการเรียนรู้โดยจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษรและอย่างเป็นระบบ เพื่อให้ผู้สอนสามารถนำไปจัดกิจกรรมการเรียนการสอนแก่ผู้เรียนในรายวิชาใดวิชาหนึ่ง เป็นรายคาบหรือรายชั่วโมง รวมทั้งเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้สอนพัฒนากิจกรรมการจัดการเรียนการสอนเพื่อนำผู้เรียนไปสู่จุดประสงค์การเรียนรู้และพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุผลตามจุดมุ่งหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       
อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.

https://wassanakasrimathematics.wordpress.com/แผนการจัดการเรียนรู้/

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น