แผนการจัดการเรียนรู้ หรือในปัจจุบันใช้คำว่าแผนการจัดการเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตร ซึ่งหมายถึงแนวทางในการสอนที่กระทรวงศึกษาธิการจัดทำขึ้นให้ผู้สอนได้นำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการเรียนการสอน หรือแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อนำผู้เรียนไปสู่จุดมุ่งหมายของการศึกษา ครูหรือผู้สอนอาจจะต้องปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพความต้องการของท้องถิ่นได้ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเนื้อหากิจกรรมการเรียนการสอน สื่อการสอนและการประเมินผล ทั้งนี้โดยยึดความคิดรวบยอด จุดประสงค์ของการเรียนรู้ หรือผลลัพธ์ของการเรียนรู้ หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง และจุดมุ่งหมายของหลักสูตร เป็นหลัก ดังนั้นในการทำแผนการจัดการเรียนรู้หรือในการปรับปรุงการสอนเพื่อให้เกิดการสอนที่ดีผู้สอนจะต้องเตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ในหลาย ๆ ด้านได้แก่ ด้านความรู้ และเทคนิควิธีตลอดจนการนำสื่อมาใช้เป็นต้น
ลักษณะของแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี
1. มีความเหมาะสมสอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของหลักสูตรสถานศึกษาตลอดจนปรัชญาของโรงเรียนด้วย
2. พิจารณากำหนดจุดประสงค์ให้สอดคล้องเหมาะสมกับผู้เรียนและท้องถิ่น
3. มีการจัดเนื้อหาสาระให้เหมาะสมกับกาลเวลา สภาพความต้องการและความเป็นจริงของท้องถิ่นเพื่อเป็นการกระตุ้นความสนใจและเกิดประโยชน์แก่ผู้เรียนยิ่งขึ้น
4. มีการจัดลำดับหัวข้อรายละเอียดของเนื้อหาแต่ละตอนให้กลมกลืนกัน พร้อมทั้งสามารถเชื่อมโยงประสบการณ์ใหม่และประสบการณ์เก่าให้สอดคล้องสัมพันธ์กันโดยตลอด
5. พิจารณากำหนดการใช้เวลาที่จะทำการสอนแต่ละเรื่อง แต่ละหัวข้อให้เหมาะสม โดยใช้วิธีวิเคราะห์ หลักสูตรเป็นแนวทางในการกำหนดการใช้เวลา
6. ควรมีการกำหนดกิจกรรมและประสบการณ์ โดยคำนึงถึงวัยของผู้เรียน สภาพแวดล้อม กาลเวลา ความสนใจของผู้เรียน และการนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ผู้เรียน รวมทั้งการใช้แหล่งวิทยาการท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์แก่การเรียนการสอนได้อย่างคุ้มค่า
องค์ประกอบของแผนการจัดการเรียนรู้
1. กลุ่มสาระวิชาและเรื่องที่จะสอน
2. หัวเรื่อง
3. ความคิดรวบยอดหรือสาระสำคัญ
4. จุดประสงค์หรือผลลัพธ์การเรียนรู้หรือผลการเรียนรู้ที่คาดหวัง
5. เนื้อหาหรือสาระการเรียนรู้
6. กิจกรรมการเรียนการสอน
7. สื่อการเรียนการสอน
8. ประเมินผล
9. หมายเหตุ
อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น