หน้าเเรก

วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2561

ข้อมูลที่ถูกต้องใช้ในการวางแผนการสอน

ในการวางแผนการสอนนั้น ผู้สอนหรือผู้วางแผนต้องศึกษารายละเอียดของข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และนำมาพิจารณาในการวางแผนการสอนข้อมูลเหล่านี้ได้แก่        
         1. สภาพปัญหาและทรัพยากร เป็นข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการเรียนการสอนที่ผู้สอนรวบรวมได้จากการสำรวจปัญหา และตรวจสอบทรัพยากรในแง่กำลังคน งบประมาณ วัสดุ อุปกรณ์ และวิธีการ ข้อมูลส่วนนี้จะทำให้ผู้วางแผนกำหนดรูปแบบการสอน กิจกรรมการเรียนและสื่อการสอนได้ชัดเจนขึ้น              2. การวิเคราะห์เนื้อหา เป็นข้อมูลที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งในการกำหนดเรื่องที่สอน โดยกำหนดเป็นระดับหน่วยใหญ่ที่อาจต้องสอนหลายครั้ง ระดับหน่วยย่อยที่เป็นปีกย่อยของหน่วยใหญ่ และระดับบทเรียนที่เป็นเนื้อหาของการสอน 1 ครั้ง สำหรับเนื้อหาของบทเรียนที่ต้องวิเคราะห์ออกเป็นหัวเรื่อง และหัวข้อย่อยเช่นเดียวกัน        
        3. การวิเคราะห์ผู้เรียน เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับอายุ ระดับความพร้อม และความรู้เดิมของผู้เรียน ข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้เรียนมีความจำเป็นสำหรับการจัดการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับผู้เรียนในระดับต่าง ๆ
        4. ความคิดรวบยอด เป็นข้อมูลที่เกี่ยวกับสาระ หรือแก่นของเนื้อหาที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับ อาจเปรียบได้ง่าย ๆ กับการปรุงอาหารที่ต้องมีการกำหนดความสมดุลของสารอาหารที่ผู้บริโภคจะได้รับ โดยไม่คำนึงถึงกากหรือเนื้ออาหาร การสอนก็เช่นเดียวกัน ผู้สอนต้องกำหนดให้เด่นชัดก่อนว่าต้องการให้ผู้เรียนได้รับความคิดรวบยอดที่เป็นแก่นสารของเนื้อหาอะไรบ้าง        
         5. วัตถุประสงค์ วัตถุประสงค์เป็นเป้าหมายแห่งความสำเร็จ ในส่วนของการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมในตัวผู้เรียน ที่ผู้สอนกำหนดไว้ การกำหนดวัตถุประสงค์ต้องมีทั้งวัตถุประสงค์ทั่วไป และวัตถุประสงค์เฉพาะก็นิยมกำหนดไว้ในรูปวัตถุประสงค์เชิงพฤติกรรม        
         6. กิจกรรมการเรียน เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ล่วงหน้า ว่าจะให้ผู้เรียนประกอบกิจกรรมการเรียนอะไรบ้าง โดยคำนึงถึงกิจกรรมกลุ่มใหญ่ กลุ่มย่อย และกิจกรรมรายบุคคล กิจกรรมการเรียนต้องจัดไว้ให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์        
          7. สื่อการสอน เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าเช่นเดียวกัน โดยพิจารณากิจกรรมการเรียนเป็นหลัก        
          8. การประเมินผล เป็นข้อมูลที่ผู้สอนต้องคาดการณ์ไว้ว่าจะตรวจสอบพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้เรียนอย่างไร ทั้งในส่วนที่เป็นพฤติกรรมเดิม(ความรู้ที่มีอยู่แล้ว) พฤติกรรมต่อเนื่อง (พฤติกรรมย่อยที่ผู้สอนต้องให้ผู้เรียนเรียนรู้ไปทีละน้อย) และพฤติกรรมขั้นสุดท้าย (พฤติกรรมซึ่งผู้สอนคาดหมายไว้)

อ้างอิง
พิจิตรา ธงพานิช. วิชาการออกแบบและการจัดการเรียนรู้ในชั้นเรียน. พิมพ์ครั้งที่ 3 นครปฐม : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์, 2560.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น